เมื่อแมลงปอยกก้นชี้ฟ้า

เวลาที่เดินออกไปถ่ายรูปในวันที่แดดจ้าแล้วพบเจ้าแมลงปอที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ยกก้นชี้ไปที่ดวงอาทิตย์ คุณเคยสงสัยไหมว่ามันทำเช่นนั้นทำไม? 

การยกก้นของแมลงปอมีหลายองศา: 1) แมลงปอบ้านกลางปลายหางแต้ม ([i]Urothemis signata[/i])  2) แมลงปอบ้านยอดฟ้า ([i]Aethriamanta aethra[/i]) ตัวเมีย

การยกก้นของแมลงปอในยามแดดจ้า: 1) แมลงปอบ้านกลางหางแต้ม (Urothemis signata) ตัวผู้
2) แมลงปอบ้านยอดฟ้า (Aethriamanta aethra) ตัวเมีย

แมลงปอส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิภายในร่างกายต้องสูงเกิน 18.33 องศาเซลเซียส (หรือ 65 องศาฟาเรนไฮท์) เนื่องจากอุณหภูมิภายในร่างกายของแมลงปอนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม พวกมันจึงต้องใช้การเคลื่อนไหวและท่าทางหลายรูปแบบเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายให้เหมาะสมและคงที่ หนึ่งในท่าทางช่วยเพิ่มอุณภูมิร่างกายที่เราพบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือการเกาะกลางแดด (basking) ซึ่งส่วนท้องของแมลงปอจะขนานกับพื้นดิน ปีกอาจจะลดลงต่ำเพื่อรับลมร้อนที่อยู่ใกล้กับส่วนอกของมัน เราสามารถพบเห็นพฤติกรรมนี้ได้ทั้งในแมลงปอเข็มและแมลงปอบ้านส่วนใหญ่ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามในใจต่อว่า แล้วมันไม่ร้อนตายหรือ?

แมลงปอบ้านใต้ผู้ม่วง (Trithemis aurora) ตัวเมีย: 1) ขณะยกก้นชี้ฟ้า (obelisking) และ 2) เกาะตามปกติ (basking)

แน่นอน แมลงปอก็ร้อนเป็นครับ ถ้ามันปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงจนเกินไป การสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ แต่พวกมันก็มีวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แมลงปอหลายชนิดเลือกที่จะบินชะแว้บไปหลบในร่มไม้ พอร่างกายมีอุณหภูมิลดลงแล้ว มันก็จะบินออกมาหากินใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีแมลงปอหลายชนิดเช่นกันโดยเฉพาะในแมลงปอขนาดเล็กที่ชอบเกาะนิ่งมากกว่าบิน (ผมเรียกพวกมันว่า พวกบ้าแดด) ที่เลือกจะอยู่ที่เดิม แต่ปรับท่าทางของมันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป ซึ่งก็คือการยกก้นขึ้นชี้ฟ้า (obelisk) ชื่อท่าทางในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า obelisk ที่หมายถึงเสาสูงปลายแหลม ทำมาจากหินแกรนิตขนาดใหญ่เพียงก้อนเดียว มีต้นกำเนิดจากอียิปต์โบราณ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางสู่วิหารเทพเจ้าครับ ลองดูรูปเทียบกับท่าเกาะของแมลงปอสิครับ แหม...เหมือนจริงๆ ครับ

เสาโอบิลิสก์ (Obelisk) สัญลักษณ์แห่งเส้นทางสู่วิหารเทพเจ้า
(ภาพจาก: 
http://crossbearer-brian.tripod.com/6744ef40.jpg)

การยกก้นขึ้นชี้ฟ้าจึงเป็นการช่วยลดพื้นที่ผิวที่โดนแสงแดด ยิ่งยกสูงก็ยิ่งช่วยลดพื้นที่ผนังลำตัวที่สัมผัสและดูดซับความร้อนจากแสงแดด (ดูได้จากขนาดของเงาที่ใต้ลำตัว) ในบางครั้งแมลงปอก็มีการลดท้องลงด้านล่างเพื่อให้ได้ผลแบบเดียวกัน ในแบบหลังนี้ ผมมักเห็นท่าทางเช่นนี้ในแมลงปอบ้านแผ่นปีกกว้าง (Pantala flavescens) หรือในแมลงปอบ้านใหญ่ (สกุล Tramea) ขณะกำลังบินครับ หากคุณสังเกตมันดีๆ จะพบว่า แมลงปอจะหันหน้าหนีหรือหันข้างเข้าหาแสงแดดขณะที่ยกก้นขึ้นขี้ฟ้า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการหันหน้าหนีแสงเช่นนี้ก็เพื่อให้มันมองเห็นเหยื่อเป็นเงาดำ (silhouette) เพราะสิ่งรอบตัวและสภาพแวดล้อมจะไม่มืดที่สุด(เนื่องจากแสงส่อง) และแสงก็ยังไม่เข้าตามันอีกด้วยครับ นักวิทยาศาสตร์รายงานพฤติกรรมนี้ในแมลงปอสามวงศ์ได้แก่ วงศ์แมลงปอบ้าน (Libellulidae) วงศ์แมลงปอเสือ (Gomphidae) และวงศ์แมลงปอเข็มน้ำตกใหญ่ (Calopterygidae) และผมเองก็พบเห็นพฤติกรรมนี้ในวงศ์แมลงปอเข็มน้ำตกแฟนซี (Euphaeidae) เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การยกท้องตั้งฉากกับพื้นดินในช่วงพระอาทิตย์ตกก็ช่วยเพิ่มพื้นที่ดูดซับความร้อนจากแสงแดดเช่นกัน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกายเพื่อให้ตัวมันบินหรือทำกิจกรรมอื่นได้อยู่ครับ

แมลงปอเสือ

แมลงปอเสือลายประดับ (Ictinogomphus decoratus) ตัวผู้ ในวงศ์ Gomphidae

นอกจากท่าทางที่จะช่วยเพิ่มหรือลดอุณหภูมิร่างกายของแมลงปอแล้ว เราพบว่าสีก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยครับ แมลงปอที่มีปีกและ/หรือลำตัวสีเข้ม สีเหล่านี้จะช่วยดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้นครับ แต่ในทางกลับกัน สีอ่อนหรือสีสดใสจะช่วยสะท้อนแสงแดดได้มาก ทำให้ความร้อนถูกดูดซับได้น้อยลง นอกจากนี้ ในแมลงปอและแมลงปอเข็มบางชนิดที่มีสีฟ้าหรือสีแดง ความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น สีฟ้าและสีแดงจะเข้มขึ้น และจะอ่อนลงเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง ความเข้มที่แตกต่างกันนี้เกิดมาจากการเคลื่อนที่ของเม็ดสีภายในผนังลำตัวของแมลงปอ ยิ่งเม็ดสีเคลื่อนที่ใกล้ผนังลำตัวเท่าไหร่ สีก็ยิ่งเข้มขึ้นเท่านั้นครับ

แมลงปอเข็มแฟนซีปีกใส

 แมลงปอเข็มน้ำตกแฟนซีปีกใส (Bayadera hyalina) ตัวผู้ ในวงศ์ Euphaeidae สังเกตขนาดเงาใต้ลำตัว

นอกจากนี้ การยกท้องชี้ฟ้ายังใช้เป็นสัญญาณขู่ผู้บุกรุกอาณาเขตหรือคู่ต่อสู้อีกด้วย เช่น แมลงปอบ้านสีฟ้า (Blue Dasher; Pachydiplax longipennis) ที่พบได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาจะทำการยกท้องสีฟ้าสดใสขึ้นเพื่อข่มขู่ผู้บุกรุกอาณาเขตของมัน แสงสะท้อนดังกล่าวจะเข้าตาผู้บุกรุกจนทำให้ต้องล้าถอยไป นอกจากนี้ แมลงปอชนิดนี้ก็ยกท้องเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายของมันเช่นกัน ซึ่งสามารถทดสอบได้ในห้องทดลองโดยใช้ความเข้มแสงที่แตกต่างกัน แมลงปอชนิดนี้จะยกท้องขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และลดท้องลงในขนานกับพื้นดินเมื่ออุณหภูมิต่ำลงครับ

เราจะเห็นว่า ในวันที่แดดจ้า การยกท้องขึ้นของแมลงปอขนาดเล็กและชอบเกาะนิ่งนั้นก็เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ไม่ให้สูงเกินไป และในตอนพระอาทิตย์ตก การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ดูดซับความร้อนจากแสงแดดไว้ได้ อีกทั้ง การยกท้องขึ้นยังเป็นสัญญาณข่มขู่ผู้บุกรุกอาณาเขตและคู่ต่อสู้อีกด้วยครับ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ความรู้ใหม่เลยครับ ขอบคุณมากครับพี่ดิว :)

ความเห็นที่ 2

แจ่มเลยครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ชอบบทความทางด้านพฤติกรรมแบบนี้อ่ะ 

ความเห็นที่ 3

ยอดเยี่ยมเลยท่านดิว ได้ความรู้มากมายครับ ชอบๆ

ความเห็นที่ 4

ตกลงยังไม่มีใครมาเล่นมุกที่ผมคิดเลยเหรอเนี๊ย.....

ความเห็นที่ 5

.

รูปสวยจังค่ะ...ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่น่าสนใจแบบนี้นะคะ ^^

ความเห็นที่ 6

ขอบคุณครับ เขียนมาให้อ่านบ่อยๆ น่ะครับพี่ดิว ได้เก็บไปบอกสอนเด็กๆ ได้

เพราะความรู้เรื่องแมลงปอ ผมมีน้อยประดุจหนวดแมลงปอแหล่ะครับ

ความเห็นที่ 7

ขอบคุณนะคะสำหรับบทความดีๆ

เคยเห็นมันยกก้นชี้ฟ้าและก็เกาะนิ่งๆ ประเภทพวกบ้าแดดก็มีค่ะ

สงสัยอยู่เหมือนกันว่ามันทำแบบนั้นทำไม วันนี้ได้คำตอบแล้ว เย้ๆ

ความเห็นที่ 8

ขอบคุณทุกท่านครับ ^^

ความเห็นที่ 9

การให้ความรู้เป็นทาน เป็นบุญอบ่างยิ่ง (คำพระ)
เจ้าแมลงปอบ้านสีฟ้า (Blue Dasher; Pachydiplax longipennis) ชื่อชนิดของมันดูสัปดนนะครับ (คำคน)

ความเห็นที่ 9.1

longipennis หมายถึง ปีกยาว ครับ บ่ใช่ไอ้นั้นยาวครับ ฮาๆๆๆ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ ครูเล็ก

ความเห็นที่ 10

นอกจากข้อมูลดีแล้วยังเขียนได้ดีด้วย เก็บไว้รวมเล่มเนาะ อิอิ yes

ความเห็นที่ 11

มีคนเอาไปลงในเว็บเด็กดีเสียแล้วว  http://writer.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=403426&chapter=250

ความเห็นที่ 12

อ่านสนุกดีคะ ชอบคะ

ความเห็นที่ 13

ขออนุญาตคุณ Due_n ลงรูปเสาโอบิลิสก์ (Obelisk) สัญลักษณ์แห่งเส้นทางสู่วิหารเทพเจ้า เพราะรูปเดิมหายไปแล้วนะคะ 

เพราะว่าต้องการทราบว่าเสาโอบิลิสก์ เป็นอย่างไรคะ
images?q=tbn:ANd9GcSrORTNdNZ-KHSw1YM7SxA

ความเห็นที่ 13.1

ขอบคุณคร้าบบบ  เพิ่งเห็นแฮะๆๆๆ