ตู้ไม้น้ำธรรมชาติ บึงน้ำเปรี้ยว : ท่าใหม่, จันทบุรี
บึงน้ำเปรี้ยว สถานที่แห่งหนึ่งในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สถานที่แห่งนี้ได้รับการแนะนำจากพี่พูนศักดิ์ วัชรากร ผู้แต่งหนังสือ “ปาล์มและปรงในประเทศไทย” เหตุก็เพราะว่าตอนนั้นพวกเรากำลังตามหาปลาซิวหนู Boraras uropthalmoides
ปี ค.ศ.2006 (ขอใช้ปีค.ศ.เพราะผมคุ้นเคยนะครับ)นั้นเป็นปีแรก ที่นณณ์ได้สัมผัสก่อนกับพรรคพวกกลุ่มนึงและได้โทรศัพท์มาเล่าสรรพคุณความสวย งามแห่งบึงน้ำเปรี้ยวต่างๆ นานา จนทำให้ผมได้มีโอกาสไปแถวนั้นช่วงปลายหน้าร้อนของปีนั้นและ ได้ตื่นตะลึงกับจำนวนปลาซิวหนูที่อยู่กันแน่นขนัดในดงบัวแดงเพื่อมาจับคู่ ออกลูกออกหลานเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนตัวเกินจะคาดคะเนได้
หลังจากความประทับใจในครั้งนั้นผมก็ปฏิญาณกับตนเองว่าถ้ามีโอกาสจะไปเยี่ยมบึงน้ำเปรี้ยวแห่งนี้ทุกๆ ปี…..
ประมาณต้นฝนเดือน ก.ค.ปี 2007 ผมและกลุ่ม Siamensis.org ได้ไปตามเก็บภาพปูแสมภูเขาในอำเภอมะขาม และขากลับจากภารกิจเราก็แวะที่บึงน้ำเปรี้ยวอำเภอท่าใหม่ แต่บึงกลับไม่เป็นใจเพราะสภาพบัวแดงที่เคยเห็นและฝูงปลาซิวหนูไม่มีให้เห็น เลย หลังจากนั้นเข้าปลายฝนในเดือน ต.ค. ผมกลับมาซ้ำอีกครั้งแต่ก็เหมือนจะมาช้าไปเพราะบึงเข้าสู่สภาพเริ่มโทรม ฝูงปลาซิวหนูหายไป ปลาที่พบได้ง่ายกว่ากลับเป็นปลาซิวครีบแดง Rasbora rubrodorsalis
ปี 2008 ผมว่างเว้นไป 1 ปี จำไม่ได้ว่าด้วยสาเหตุใด และปี 2009 – 2010 สองปีแห่งความแห้ว ผมเลือกช่วงกลางของหน้าฝนแต่กลับไม่สมหวังกับสภาพบึงน้ำเปรี้ยวท่าใหม่เลย ประมาณว่าที่อื่นฝนตกโครมๆ แต่ที่นี้แล้ง บึงเละ น้ำสีแดงเป็นสนิม
ปี 2011 ช่วงเดือน ต.ค. เข้าปลายฝนขากลับจากการไปเที่ยวน้ำตกตรอกนองผม วาดภาพในหัวว่าจะได้เจอกับสภาพของบึงที่พีคสุดๆ จะเก็บภาพสวยๆ ให้ได้มากที่สุด แต่แล้วไม่เป็นอย่างหวังเพราะบึงออกจากสภาพที่ผมวาดไว้ไปนานแล้ว น้ำขุ่นมองไปได้ไม่เกิน 2 ฟุตเมื่ออยู่ในน้ำ เป็นอะไรที่ผมผิดหวังติดต่อกันมา 3 ปีและคิดว่าจะเลิกติดตามบึงน้ำเปรี้ยวท่าใหม่แห่งนี้แล้ว
และล่าสุดปี 2012 ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ผมมีโอกาสแบบอโคจรไม่ได้หวังว่าจะอะไรกับบึงนี้อีกแล้ว หลังจากกลับไปเดินดูธรรมชาติในเขตเขาสระบาปในอำเภอขลุง บึงน้ำเปรี้ยวท่าใหม่แห่งนี้เป็นส่วนเติมเต็มหัวใจของผมให้มีความสุขสุดขีด ^____^
ผมยืนอยู่บนฝั่งมองลงไปเบื้องล่าง เห็นสันตาใบข้าวพริ้วไหวตามแรงของกระแสน้ำที่ใสแจ๋วดั่งกระจก ปลาเข็มหม้อ 2 ตัวกำลังว่ายทวนน้ำ และหลังจากนั้นไม่ให้เสียเวลาผมรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับ บันทึกภาพใต้น้ำอย่างรวดเร็ว
อากาศครึ้มๆ สลับกับแรงฝนโปรย แต่ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดความพองโตของอารมณ์ของผมตอนนี้แล้ว
ปลาซิวหางกรรไกร Rasbora trilineata จับฝูงแหวกว่ายนับร้อยนับพันไปตามกอสันตวาใบข้าว ปลาซิวหนูกลุ่มเล็กๆ ทั้งตัวผู้ตัวเมียว่ายนิ่งๆ อยู่บริเวณริมขอบที่น้ำไหลเอื่อย มองไปตามโคนกอพืชน้ำก็จะเห็นปลากริมสี Trichopsis pumila กลุ่มละ 3 – 4 ตัวว่ายเข้าออกหาอาหาร
ในส่วนลึกที่เป็นที่อยู่ของสาหร่ายต่างๆ ของบึงที่แรงน้ำเข้าไปไม่ถึงจะเจอกับฝูงปลาซิวข้าวสาร Oryzias minutillus ตาสีฟ้า ว่ายนิ่งหัวเชิดใกล้กับผิวน้ำ และจะห็นปลาหัวตะกั่ว Aplocheilus panchax และปลาซิวครีบแดงแซมมาบ้าง ลึกลงไปจะมีทั้งปลาหมอไทยและปลาหมอช้างเหยียบว่ายหลบหนีสายตาของผม
และในขณะที่ผมบันทึกภาพใต้น้ำอย่างสบายใจก็มีปลาชะโด Channa micropeltes ว่ายเข้ามาใกล้ๆ เพื่อมาสังเกตุการณ์…..ไอ้หมอนี่ใครวะ?
ปลาชะโดเค้าซุ่มดูผมอยู่ตรงสาหร่ายขนไก่ มีเหล่ตาด้วยสิ
บางครั้งการคาดหมายไว้เกินไปนั้นถ้าไม่เป็นได้ดั่งใจอาจจะทำให้เราผิดหวังและท้อแท้ เพราะฉะนั้นคาดหวังได้ แต่อย่างคาดคั้นว่ามัน “จะเป็น” จง “ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ“
แล้วฉันจะออกไปมองฟ้ามองน้ำอีก……..สวัสดี
บัลลังค์ ศิริพิพัฒน์
MirrorWild Nature Advance Photographic
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3
ความเห็นที่ 4
ธรรมชาติคือสิ่งสวยงามนะครับ ถ้ารเาให้เวลามันก็ฟื้นฟูตัวเองกลับมาสวยงามได้
มหศจรรย์ธรรมชาติจริงๆๆๆ
ถ่ายรูปได้สวยมากเลยนะครับ
ความเห็นที่ 5
ความเห็นที่ 5.1
ความเห็นที่ 6
ความเห็นที่ 7
ความเห็นที่ 7.1
ความเห็นที่ 8
ความเห็นที่ 9