ใครรู้จักแมงป่องช้างบ้าง?

ในปัจจุบันธุรกิจการขายสัตว์เลี้ยงในบ้านเราได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อเข้ามาตอบสนองความต้องการผู้ที่นิยมเลี้ยงและมีสัตว์อีกจำพวกที่ได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจนี้คือสัตว์แปลกๆ ที่พบได้ทั้งภายในประเทศและต่างแดน ที่เรามักเรียกสัตว์หรือแมลงเหล่านี้ว่าสัตว์แปลกๆ อาจเป็นไปด้วยลักษณะทางสีสันหรือรูปร่างที่ดูแปลกตาออกไปจากที่เราเห็นกันทั่วไป และยังรวมไปถึงคนทั่วไปที่ไม่นิยมเลี้ยงเพราะสัตว์บางชนิดมีพิษร้ายแรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แล้วทางเลือกทางหนึ่งที่เราสามารถพบการค้าสัตว์แปลกๆ หรือไม่แปลกมากมาย ก็คือ โซนสัตว์เลี้ยงในตลาดนัดสวนจตุจักร (ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปซื้อมาเลี้ยงเพราะสัตว์บางชนิดอาจส่งผลทางกฎหมายและอันตรายถึงชีวิตได้ผู้เลี้ยงควรคิดไตร่ตรองก่อนที่จะซื้อมาเลี้ยง) สัตว์เหล่านี้อาทิเช่น  นกงู  กิ้งก่า แมลง แมง เป็นต้นและหนึ่งในนั้นมีแมงป่องรวมอยู่ด้วยที่มีการนิยมเลี้ยงมีทั้งแมงป่องในที่พบในบ้านเราและต่างแดน การที่เรานิยมเลี้ยงสัตว์เหล่าก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนที่แปลกออกไปจากคนอื่นแต่ขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบส่วนตัวหรือจุดประสงค์ของการเลี้ยงเช่นเลี้ยงเพื่อการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ และสิ่งที่อยากให้ผู้ที่เลี้ยงตระหนักถึงก็คือการศึกษาเรื่องต่างๆ ของสัตว์แต่ละชนิดที่จะเลี้ยงก่อนว่าพื้นฐานอย่างไร เช่น พฤติกรรมการกินการอยู่อย่างไรและในด้านต่างๆ อีกมากมายที่จำเป็นมากเพราะสัตว์เหล่านี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เราเลี้ยงที่เค้าเกิดมาเพื่อการดำรงชีวิตปกติซึ่งเป็นวัฎจักรการดำรงชีพสืบเผ่าพันธุ์ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เรา 

            ถ้าสมมุติว่าเรามีคำถามเกี่ยวกับแมงป่องขึ้นมาแล้วไปถามคนทั่วไปว่าถ้าคุณเจอแมงป่องแล้วคุณจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้ที่เป็นในแนวเดียวกันคือ ฆ่าให้ตาย ตีให้ตาย เพราะเป็นสัตว์มีพิษเดี๋ยววันหน้าอาจจะมาต่อยหรือทำร้ายเราได้ ซึ่งเป็นคำตอบที่สัตว์มีพิษเกือบทุกชนิดที่จะได้รับซึ่งดูไม่มีความยุติธรรมเลยสำหรับสัตว์กลุ่มนี้ อาจเป็นเพราะว่าความจริงแล้วมนุษย์เรายังขาดความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์มีพิษเหล่านี้ แต่ถ้าพูดกันตรงๆ ในความคิดพวกเค้าก็คือไม่จำเป็นต้องรู้เพราะดูเป็นเรื่องไกลตัว รู้ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการดำรงชีวิตเพราะไม่คิดที่จะยุ่งเกี่ยวกับสัตว์มีพิษพวกนี้อยู่แล้ว ถ้าไม่เจอก็ต่างคนต่างอยู่ ถ้าเจอก็ฆ่าให้ตายก็จบ ไม่อยากให้เราทุกคนคิดอย่างนั้นเพราะสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาบนโลกใบนี้ถูกกำหนดมาแล้วว่าพวกเค้าต้องเกิดมาเพื่อมีบทบาทในด้านใด และช่วยกันปรับสมดุลของธรรมชาติไม่ว่าจะฐานะผู้ล่า ผู้ถูกล่า หรือผู้ผลิต ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นเรามาทำความรู้จักสัตว์พวกนี้ให้มากขึ้น แมงป่องในธรรมชาติแล้วจัดเป็นผู้ล่า ในบ้านเราแมงป่องที่เรารู้จักกันและเราจะนึกภาพถึงเป็นส่วนใหญ่ก็คือ แมงป่องบ้าน หรือแมงงอด จะมีลักษณะตัวเล็กเรียว มีสีน้ำตาล และแมงป่องช้าง หรือแมงเงา ตามแต่ภาษาของแต่ละถิ่นที่จะเรียกกัน จะมีลักษณะตัวใหญ่เรียว มีสีดำ ถ้าดูแค่สองกลุ่มนี้แล้วเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ คำตอบคือแมงป่องช้าง เพราะอะไรนั้นเดี๋ยวบอกครับตอนนี้ไปทำความรู้จักกับแมงป่องช้างกันก่อนดีกว่า

แมงป่องช้าง เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัม Arthropoda หรือสัตว์ขาข้อ คลาส Scorpionidaวงศ์ Scorpionidae สกุล Heterometrusแมงป่องในสกุลนี้เป็นแมงป่องที่มีขนาดใหญ่สกุลหนึ่งของโลก มีสีดำ ขนาด 9-12เซนติเมตร น้ำหนักตัว 10-12กรัม คนอีสานจะเรียกว่า “แมงเงา”ในประเทศไทยที่มีรายงานการค้นพบแมงป่องช้างมีอยู่ถึง 6 ชนิด ได้แก่ Heterometrus laoticus, Heterometrus spinifer, Heterometrus sejnai, Heterometrus cimrmani, Heterometrus pertersii และHeterometrus longimanus และทั้งหมดนี้ชนิดที่เราสามารถได้ทั่วไปหรือพบบ่อยก็คือ Heterometrus laoticus พบมากในภาคกลางรวมถึงทางภาคเหนือของบ้านเรา แมงป่องช้างเป็นสัตว์มีเปลือกแข็งหุ้ม ลำตัวเรียว มีขาจำนวน 4 คู่ อวัยวะที่โดดเด่น คือ “ก้ามใหญ่” (pedipalps) 1คู่ที่ดูทรงพลัง มันมีส่วนหัวและหน้าอกอยู่รวมกัน เรียกว่า  “โปรโซมา” (prosoma) แมงป่องช้างมีตาบนหัว 1 คู่ และตาข้างอีก 3คู่ ตรงปากมี  “ก้ามเล็ก” (chelicera) 1คู่ ส่วนถัดมาเรียกว่า  “มีโซโซมา” (mesosoma)ประกอบด้วยปล้อง 7ปล้อง ด้านหน้าท้องมีอวัยวะสำคัญคือ  “ช่องสืบพันธุ์” (genitaloperculum) และมีอวัยวะที่เรียกว่า  “เพคไทน์” (pectines) หรือ “เพคเท็น” (pectens) 1คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือหางเรียวยาว เรียกว่า “เมตาโซมา” (metasoma) ประกอบด้วยปล้อง 5ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ “ปล้องพิษ” มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย เรียกว่า “เหล็กไน” (stingapparatus) เสมือนเป็นเข็มเพชฌฆาต ฉีดพิษเพื่อคร่าชีวิตเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย พฤติกรรมส่วนหนึ่งที่ทำให้แมงป่องดูลึกลับ ก็เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบแสงสว่าง มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่มืดและชื้นก็ซึ่งดูน่าจะต่างกับการเป็นอยู่ของมนุษย์เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ และออกหากินในเวลากลางคืนเราจึงไม่ค่อยได้พบเห็นตัวมันง่ายนัก  จนบางคนตั้งสมญามันว่า “เพชฌฆาตยามราตรี"

 

ทำไมต้องชูหาง

แม้ว่าแมงป่องมีตาหลาย คู่ แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก และไม่ไวพอจะรับแสงกระพริบได้ เช่น แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป และต้องใช้เวลานานในการปรับตาให้ตอบสนองต่อแสง สังเกตได้เมื่อมันถูกนำออกจากที่มืด ต้องใช้เวลานับนาทีจึงจะเริ่มเคลื่อนไหว ข้อด้อยเรื่องสายตาได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าทั่วตัวแมงป่องปกคลุมด้วยเส้นขนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบริเวณปล้องเพชฌฆาต ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แมงป่องจะชูหางขึ้นทันทีที่มีเสียง หรือมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้ และสามารถมอบความตายให้กับเหยื่อได้อย่างแม่นยำ 

 

หลังตะวันตกดิน เมื่อความมืดมาเยือน เหล่าแมงป่องช้างจะออกจากที่ซ่อนตามโพรงดิน ซอกหลืบก้อนหิน ใต้ขอนไม้ หรือใต้กองใบไม้ลึกเร้น เพื่อรอคอยเหยื่อซึ่งมักเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดต่างๆ เช่น ตั๊กแตน, จิ้งหรีด,หนอน, แมงมุม, ตะขาบ เป็นต้น ทุกย่างก้าวของเหยื่อเคราะห์ร้ายผู้มาถึงลานประหาร ไม่อาจรอดพ้นจากการรับรู้ของขนเล็กๆ ทั่วตัวแมงป่องไปได้เลย เมื่อเหยื่อเข้ามาในระยะใกล้พอ ก้ามใหญ่สีดำทรงพลังก็หนีบฉับที่ตัวเหยื่ออย่างรวดเร็ว หากเหยื่อยังขัดขืน เหล็กไนปลายหางเพชฌฆาตก็จะทิ่มแทงเข้าที่ตัวเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแน่นิ่ง

แมงป่องต่อยและปล่อยน้ำพิษออกมาเพื่อทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต แล้วจึงเริ่มฉากการกินอาหาร ซึ่งดูสุภาพ เชื่องช้า แต่น่ากลัว เหยื่อที่ติดในก้ามใหญ่ถูกฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยก้ามเล็ก แล้วถูกส่งเข้าปาก อาหารจะถูกอมไว้เป็นเวลานานก่อนจะถูกกลืนหายเข้าไป ระยะเวลาที่แมงป่อง “ละเลียด”อาหารแต่ละมื้อนานมาก อาจถึง ๑ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นหลังอิ่มเอมจากแต่ละมื้อ แมงป่องจะไม่สนใจอาหารใด ๆ แม้จะมีเหยื่ออันโอชะมาวางอยู่ตรงหน้า และมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่กินเป็นเวลานาน อาจถึง ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ เพราะแมงป่องเป็นสัตว์เลือดเย็นและมีอัตราเมแทบอลิซึมต่ำ นอกจากนี้ยังต้องการน้ำน้อยมาก บางครั้งเพียงน้ำจากอาหารที่กินเข้าไปก็พอต่อการดำรงชีวิต

แต่แมงป่องช้างผู้น่าเกรงขามก็ยังแพ้แมลงเล็กๆ ชนิดหนึ่งที่ดูไม่น่ามีพิษสงต่อแมงป่องช้างได้เลย แต่เมื่อแม่ป่องช้างมาเจอเจ้าตัวจิ๋วเหล่านี้กลับทำอันตรายให้แก่แมงป่องช้างถึงตายได้เลยทีเดียว แมลงตัวจิ๋วที่ว่านี้คือ “มดคันไฟ”เหล่ามดคันไฟเมื่อเจอกับแมงป่องช้างจะเข้ารุมกัดและปล่อยพิษเข้าสู่ตัวของแมงป่องช้าง โดยจะเข้ากัดตามรอยต่อของเปลือกแข็งที่หุ้มตัวของแมงป่องช้าง ทำความเจ็บปวดให้แก่แมงป่องช้างและตายในที่สุด เมื่อแมงป่องช้างตายเจ้าตัวจิ๋วเหล่านี้ก็จะกัดกินซากของแมงป่องช้างเป็นอาหารของมันต่อไป 

เสน่ห์ที่แฝงอยู่

คนทั่วไปมักพบเห็น แมงป่องช้างภายใต้เปลือกสีดำทะมึน น้อยคนที่จะรู้ว่าในความน่ากลัวนั้นมีความงามซุกซ่อนอยู่ หากนำแมงป่องช้างไปไว้ภายใต้แสงอุลตราไวโอเล็ต เปลือกสีดำจะกลายเป็นสีเขียวเรื่อเรืองเปล่งประกาย ยิ่งหากมองดูพร้อมกันหลายตัว ก็ยิ่งเห็นเป็นสีเขียวเลื่อมพรายสวยงามมาก

ลักษณะ พิเศษของแมงป่อง (ไม่เฉพาะแมงป่องช้าง) ที่ต่างไปจากสัตว์มีเปลือกแข็งชนิดอื่นๆ เกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ฝังตัวอยู่เป็นชั้นบางๆ ในเปลือกของแมงป่อง สารชนิดนี้ทำให้เปลือกแมงป่องเรืองแสงสีเขียวภายใต้แสงอุลตราไวโอเล็ต ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่ จากฟอสซิลแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินฟอสซิล นอกจากนี้ ตัวอย่างดอง หรือแม้กระทั่งแมงป่องทอดที่มีขายทั่วไปในภาคอีสาน ยังคงมีการเรืองแสงอยู่แทบไม่แตกต่างจากแมงป่องที่มีชีวิตแม้แต่น้อย เท่าที่พบจะมีเพียงลูกอ่อน และช่วงที่เพิ่งลอกคราบเสร็จใหม่ๆ ที่แมงป่องจะไม่เรืองแสง กระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่า แมงป่องมีคุณสมบัติการเรืองแสงแปลกประหลาดนี้ไปเพื่อประโยชน์อันใด

ฤดูผสมพันธุ์ของแมงป่อง อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในการจับคู่ แมงป่องหนุ่มจะใช้ก้ามใหญ่หนีบกับก้ามใหญ่ของแมงป่องสาว ทั้งสองจะเดินเป็นจังหวะไปข้างหน้าและถอยหลัง หรือวนเป็นวงกลมไปรอบๆ แมงป่องหนุ่มจะวางถุงน้ำเชื้อของตนลงบนพื้น แล้วหมุนและกดตัวแมงป่องสาวให้คร่อมเก็บถุงน้ำเชื้อ อสุจิจะผ่านช่องสืบพันธุ์ (genital operculum) ของแมงป่องสาว เพื่อผสมกับไข่ในท้อง

เมื่อแมงป่องสาวเก็บถุงน้ำเชื้อเข้าไปในตัว แมงป่องสาวจะจับแมงป่องหนุ่มกินเป็นอาหารทันที หรือบางครั้ง ตัวผู้ก็อาจกินตัวเมียที่มีขนาดเล็กกว่า ธรรมเนียมการฆ่าหลังการผสมพันธุ์ อาจมาจากสัญชาตญาณของแมงป่อง ที่เป็นสัตว์ประเภทกินพวกเดียวกันเอง ตัวผู้จึงกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของตัวเมีย เพื่อประโยชน์ของลูกน้อยที่จะเกิดมา

แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ ๗ ถึง ๒๘ ตัว ด้วยอัตราประมาณ ๑ ตัว ต่อ ๑ ชั่วโมง ดังนั้นแม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๒๔ ชั่วโมง หลังคลอดจากท้องแม่แล้ว ลูกๆ จะรวบรวมกำลังปีนขึ้นไปอยู่บนหลังแม่ด้วยตนเอง

ภาพ พจน์อันร้ายกาจของแมงป่องในความคิดหลายคนอาจลบเลือนไป หากใครก็ตามได้มาเห็นช่วงเวลาที่แม่แมงป่องดูแลลูกน้อยของมัน ลูกอ่อนที่เกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่องเป็นภาพที่แปลก ตา ทว่าสำหรับแม่แมงป่องเอง นี่คือภาระอันหนักหน่วง ลองคิดดูว่า ลูกอ่อน ๑ ตัวหนัก ๐.๒ กรัม หากมีลูก ๒๐ ตัวจะหนัก ๔ กรัม ส่วนแม่หนักราว ๑๐ กรัม เปรียบได้กับแม่(คน)ที่มีน้ำหนัก ๖๐ กิโลกรัม ต้องอุ้มลูกหนัก ๑.๒ กิโลกรัม ถึง ๒๐ คน! แม่แมงป่องจึงดูอุ้ยอ้าย เดินซวนเซและส่ายหางไปมา เพราะขาทั้งแปดต้องรับน้ำหนักมาก จึงแทบไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น ระยะนี้ คาดว่าแม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่พักผ่อนเลย เพราะต้องใช้เวลาทั้งหมดเฝ้าคอยระแวดระวังภัยที่อาจกล้ำกรายสู่ลูก ส่วนแมงป่องตัวน้อยเหล่านี้จะอยู่บนหลังแม่นานถึงสองสัปดาห์โดยไม่กินน้ำและ อาหารเลย

อย่างไรก็ตาม อาณาเขตอันปลอดภัยของลูกๆ จำกัดอยู่เฉพาะบนหลังแม่แมงป่องเท่านั้น หากลูกอ่อนตัวใดมีอันพลัดตกจากหลังแม่ก็บอกลาโลกได้เลย เพราะแม่จะไม่ช่วยมันกลับขึ้นไปบนหลัง มันจึงอาจตกเป็นอาหารของสัตว์อื่น หนำซ้ำอาจถูกแม่ของตัวเองจับกิน! เพื่อมิให้ลูกน้อยที่อ่อนแอเป็นเสมือนเหยื่อที่จะชักนำให้ศัตรูเข้ามาใกล้

ลูกแมงป่องจะอาศัยอยู่บนหลังแม่จนลอกคราบครั้งแรกหลังจากมีอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกแมงป่องจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวแม่ ก้ามน้อยๆ ยังไม่สามารถจับเหยื่อกินเองได้ จะคอยเก็บเศษอาหารที่แม่แมงป่องกินเป็นอาหารของตน ถึงตัวเล็กแต่เจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็เริ่มชูหางขู่แล้ว แต่เหล็กในอันจิ๋วยังไม่สามารถทำอะไรเหยื่อได้ ลูกมแงป่องลอกคราบอีกหลายครั้งกว่าจะโตเต็มวัย โดยปกติแมงป่องช้างจะมีอายุประมาณ 3-5ปี

         เมื่อได้รู้จักแมงป่องช้างมากขึ้น ทำให้ได้เห็นถึงเรื่องราวอันน่ารัก และน่าสนใจมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันแมงป่องช้างกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้สนใจมากขึ้น เราสามารถจับมันมาด้วยมือเปล่าได้โดยใช้มือเข้าจับที่ส่วนปลายหางของแมงป่องช้างโดยเข้าทางด้านหลังอย่างช้าๆ อย่าให้ตกใจ สามารจับมาวางให้นอนนิ่งๆ บนมือหรือไต่เล่นได้ แมงป่องช้างจะปล่อยเหล็กไนเข้าใส่เราก็ต่อเมื่อตกใจ หรือเข้าใจว่าสิ่งที่ก้ามมันหนีบจับอยู่นั้นเป็นเหยื่อและกำลังจะดิ้นหลุด แมงป่องช้างจะปล่อยเหล็กไนเข้าใส่ทันที ในการเลี้ยงสิ่งใดก็ตามควรให้ความสนใจและศึกษาธรรมชาติของสัตว์เหล่านั้นให้ดีก่อนนำมาเลี้ยง เช่น เคยพบว่ามีการจัดตู้เลี้ยงแมงป่องช้างเป็นแบบทะเลทรายโล่งๆ เน้นเอาความสวยงามเลียนแบบธรรมชาติของแมงป่องทะเลทราย ซึ่งผิดธรรมชาติของพวกแมงป่องช้างที่ชอบที่มืดและชื้นเย็น และควรเอาใจใส่และรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเลี้ยงไม่ควรนำสัตว์ต่างถิ่นไปปล่อยสู่ธรรมชาติของไทยเมื่อเบื่อที่จะเลี้ยงมัน

          กล่าวโดยสรุปว่าไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ล้วนมีบทบาทที่ต่างกันแต่ก็เป็นบทบาทนั้นช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น แมงป่องก็เป็นเพียงกลุ่มสิ่งมีชีวิตหนึ่งเราพูดถึงยังมีอีกหลายชีวิตที่เราควรรู้จักเค้าให้มากกว่านี้ มนุษย์เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเหมือนกันต่างกันที่เราสามารถคิดได้มากกว่า ทำได้มากกว่า เราพัฒนาได้สูงสุดมากกว่าชนิดอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาเปรียบหรือไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเช่นกัน เราควรตระหนักว่าสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีความหมาย มีบทบาทและหน้าที่ของตนที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับโลกใบนี้ อย่ามองว่าเราทำลายสิ่งนั้นลงไปเราก็สามารถสร้างสิ่งอื่นมาทดแทนได้ มันอาจจะดูว่าเราไม่เดือดร้อนอะไรแต่ยังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องพึ่งพาหรือใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านั้นที่เราทำลายลงไปคงไม่ต่างอะไรกับคำพูดที่ว่า เด็ดดอกไม้แต่สะเทือนถึงดวงดาว ที่เราเคยได้ยินกัน ในทุกวันนี้เราไม่สามารถไปแก้อะไรให้มันเหมือนเดิมได้แต่ถ้าถามว่าเราทำมันไม่ให้มันเลวร้ายลงไปกว่านี้ได้หรือเปล่าตอบได้เลยว่า “ทำได้ถ้าจะทำ” ไม่ได้หวังว่าทุกคนจะทำให้มันดีขึ้นแต่สิ่งที่เราหวัง คือ อยากให้มีคนที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตให้มีกว่าเดิมเท่านั้นเอง ถ้าคุณไม่คิดจะทำอะไรก็อย่าไปทำลายเค้าเลยดีกว่า เพราะถ้าคุณรักชีวิตคุณ เค้าก็รักชีวิตเค้าเหมือนกัน

 

ที่มาของข้อมูล

"มีใครบ้างไม่กลัวแมงป่อง"  นันทวัน เอื้อวงศ์กูล, ผศ.ดร.ศักดา ดาดวง
ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ตะขาบยักษ์ชื่อนี้การันตีคุณภาพครับ ขอบคุณครับ ได้เก็บความรู้นำไปบอกกล่าวกับคนอื่นด้วย

ความเห็นที่ 2

ขอบคุณค่ะ...ได้ความรู้ดีๆมาอีกแล้ว

เมื่อก่อนเคยสงสัยว่าทำไมลูกๆถึงไปอยู่บนหลังแม่ซะแน่นเลย ที่แท้ก็เพราะเหตุนี้เอง

ความเห็นที่ 3

อ่านเรียบร้อยครับ
 

ความเห็นที่ 4

ได้ความรู้เยอะเลยครับ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 5

บทความดีครับ อ่านเพลิน ถึงตัวหนังสือจะเยอะแต่ว่าไม่เบื่อเลยครับ

ความเห็นที่ 6

ขอบคุณมากค่ะ

ความเห็นที่ 7

ขอบคุณมากครับ วันนี้เพิ่งจับได้ตัวหนึ่งแล้วลอง

ฉายด้วยหลอดอุลตร้าไวโอเล็ตดู สวยงามมากจริงๆ

ความเห็นที่ 8

อืม

ความเห็นที่ 9

เคครับ

ความเห็นที่ 10

เมื่อคืนผมกำลังเขียนงานอยู่(ผมนอนเขียน) มันวิ่งออกมาจากตู้ใต้ทีวีเป๋นไม้ ผมตกใจ มันวิ่งเร็วมาก ชูหางขึ้น ตัวสีน้ำตาล ผมเขี่ยมันเหมือนแกล้งตาย นิ่งมาก ผมเลยเรียกแฟนผมมาจับใส่แก้ว มันก็ยังนิ่งอีก แฟนผมเลยเอาไบกอนฉีด อัดลงไป ในแก้ว แล้วเอากรรไกรตัดตัวมันขาด ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไง คนข้างบ้านบอกว่า ถ้ามีลูกมันก็ต้องมีแม่มัน ผมจะทำอย่างไงดี ใครรู้ช่วยบอกวิธีกำจัดหน่อย

ความเห็นที่ 10.1

ไม่ทราบว่าบ้านอยู่แถวไหนครับ ผมว่าน่าจะเป็นแมงป่องบ้านครับ ถ้าเป็นแมงป่องบ้านก็คงมีอยู่แค่ตัวเดียวครับ ถ้าเจอก็จับเอาไปปล่อยนอกบ้านแล้วกันครับ ปกติมันจะไม่ต่อยเราก่อนถ้ามันไม่ตกใจหรือไปโดนมัน แต่แมงป่องบ้านจะไวถ้าไปถูกตัวมัน มันจะต่อยเพราะฉะนั้นถ้าเจอก็จับใส่แก้วอย่างที่ทำก็ได้ครับแล้วเอาไปปล่อยนอกบ้านหรือเอาไม้กวาด กวาดมันออกไปก็ได้ อย่าไปฆ่ามันเลย ทีบ้านผมเนื่องจากพ้นบ้านอยู่ระดับเดียวกับพื้นนอกบ้านเป็นบ้านชั้นเดียว จึงมีเจ้าพวกนี้โผล่ออกมาทักทายบ่อยๆ บางครั้งถึงกับมาทำรังอยู่ในบ้านในห้องเก็บของ ผมก็เก็บออกมาเลี้ยงไว้บ้างหรือไม่ก็เอาไปปล่อยไว้ในป่าบ้าง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อตัวมันหรือต่อคนรอบข้าง คนแถวบ้านเดี๋ยวนี้ถ้าเจอมันอยู่ในบ้านเค้าก็มักจับมาให้บ้าง เรียกให้ไปจับให้บ้าง มันไม่ได้เป็นอันตรายกับเรามากนัก ส่วนใหญ่แมงป่องก็มักจะไม่ค่อยออกมาให้เราเห็นอยู่แล้วครับ เพราะมันก็รู้ว่ามนุษย์อันตรายต่อมันเหมือนกัน

ความเห็นที่ 11

โหคำพูดของคุณกินใจมากครับ โคตรๆ สุดโค่ย!!!

ความเห็นที่ 12

เจอเจ้าแมงป่องนี้ในห้องนอนหลายรอบมาก .... เป็นตัวเล็กทั้งหมดที่เจอ
เจอเกือบ ๆ จะ 5 ตัวละคะ ถึงห้องนอนจะมีส่วนที่รกแต่เวลาทำความสะอาดก็ทำทุกซอกนะคะ
ไม่รู็มันมาจากไหน

ทำไงดีแล้วก็ไม่อยากฆ่าด้วย แต่ตัวล่าสุดที่เจอคะ เราเอาฟากล่องไปคอบทิ้งไว้
2 วันได้ละมั้ง แล้วมาเล่าให้ป๊าฟัง ว่ามีไอตัวนั้นมาอีกแล้ว(ตลอดเวลาที่เจอมันไม่รู้เลยจิง ๆ ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่ คิดว่าแมลงไม้ไรพวกนี้) ป๊าบอกให้เอามาให้ดู
ก็ไปเปิดฟา กำลังจะคีบมัน รู้สึกมันยังไม่ตาย มันขยับ เลยไม่กล้าจับเรียกป๊ามาดู
ป๊าบอกแมงป่องช้าง ลูกมัน
ตอนนี้เวลาเดิน ๆ ในห้องก็กลัวจะไปเหยียบมันเข้า สงสัยต้องล้างห้องซะแล้ว >"<

ความเห็นที่ 12.1

ลองถ่ายรูปมาดูสิครับ จะได้ช่วยจำแนกได้ ส่วนใหญ่แล้วแมงป่องจะออกลูกประมาณช่วงปลายปีถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ลูกก็จะโตและออกหากิน เดินเพ่นพ่านประมาณนี้แหละครับ เริ่มแยกออกจากแม่ น่าจะมีรังอยู่แถวนั้นลองหาดูครับ จับแล้วเอาไปปล่อยในสวนหรือตามทุ่งก็ได้ครับมันไม่มีพิษมีภัยอะไรครับ

ความเห็นที่ 13

ช่วยบอกถึงหน่อยได้ไหนว่าถ้าปล่อยแมงป่องไปเเล้วจะเป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตอื่นหรือเปล่า เราเป็นคนไม่ชอบฆ่าสัตว์เพราะย้อนคิดเสมอว่าเขาก็รักชีวิตเขา แต่ที่จำเป็นต้องฆ่าประจำคือเห็บหมา ส่วนอย่างอื่นถ้าเลี่ยงได้ก็ไม่อยากเจอเลย  เเต่วันนี้ ตอนนี้ได้เห็นแมงป่อง ใจหนึ่งไม่คิดทำอะไรเขา เเต่อีกใจหนึ่งถ้าเอาเขาไปปล่อยนอกรั้วบ้านก็กลัวคนที่ไม่รู้ ไม่เห็นได้รับอันตราย คิดหนักทุกครั้งและรู้สึกผิด เเต่ไม่รู้จะทำไงพอบอกพี่ยาม เขาเห็นเขาก็บอกขอโทษก่อนที่เขาจะฆ่ามัน(ก็เหมือนยืมมือคนอื่นฆ่า) ลำบากใจที่สุด sad

ความเห็นที่ 14

การันตีอย่าแรงแต่เราก็กลัวเหมือนกันนะอิๆ

ความเห็นที่ 15

ตอนนี้ผมมีแมงป่องอยู่4ตัวดูไม่เป้นว่าตัวผู้หรือตัวเมีย

ความเห็นที่ 16

ตอนนี้ผมมีแมงป่องอยู่4ตัวดูไม่เป้นว่าตัวผู้หรือตัวเมีย