จดหมายเปิดผนึก ถึงกรมประมง #1/2557

วันศุกร์ ที่ 12 ธันวาคม 2557

เรียน อธิบดีกรมประมง และ บุคลากรกรมประมงที่เคารพทุกท่าน

ก่อนอื่น กระผมต้องขอขอบคุณ กรมประมง ที่กรุณาเข้ามาตอบจดหมายของกระผมในครั้งที่แล้ว ซึ่งกระผมได้เรียกร้องให้ทางกรมฯออกมาแสดงความเห็น(หรือคัดค้าน)ในกรณีโครงการพัฒนาในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งท่านก็ได้กรุณาตอบกระผมโดยอ้างอิงกฏหมายซึ่งเป็นภาระกิจที่ท่านต้องทำอยู่แล้วนั้น ขอเรียนว่าจนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ สิ่งที่ผมเรียกร้องจากกรมประมงในคราวก่อนนั้น วันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ในกรณีการส่งหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตามด้วยการแถลงข่าวให้เห็นถึงความสำคัญของผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางกรมอุทยานฯให้ความสนใจและพร้อมที่จะให้ความเห็นขัดกับหน่วยงานอื่นๆเพื่อทำหน้าที่ตามภารกิจของกรมตนเองอันนี้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับที่ผมได้เขียนจดหมายถึงท่านในครั้งก่อน (กรมอุทยานฯก็มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในคณะพิจารณา เหมือนที่กรมประมงอ้างถึงในการตอบจดหมายของกระผมฉบับที่แล้วครับ) เพราะวันนี้แหล่งน้ำหลายแห่งซึ่งท่านมีหน้าที่ดูแลนั้นกำลังถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างต่างๆ
 
ซึ่งผมขอยกตัวอย่างกรณีเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งตอนนี้มีทั้งกั้นส่วนที่อยู่เหนือประเทศไทย (เขื่อนไซยะบุรี) และโครงการที่กั้นใต้ประเทศไทย (เขื่อนดอนสะโฮง) ทั้งสองเขื่อนมีนักวิชาการ(ต่างชาติ ผมยังไม่เคยเห็นข้อมูลจากกรมประมง)ให้ความเห็นและทำงานวิจัยไว้มากมายว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ “ปลา” ซึ่งลำน้ำโขงส่วนที่อยู่ในประเทศไทยโดนปิดหัวปิดท้ายอยู่นั้นแน่นอนว่ามีผลกระทบแน่ๆ  ผมไม่เห็นว่ากรมท่านจะออกมาให้ความเห็น ทำงานวิจัย จัดงานแถลงข่าว หรืองานจัดสัมมนาวิชาการใดๆ (หรือว่าผมพลาดไปเอง?) ทุกวันนี้กลายเป็นชาวบ้าน NGO ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องระบบนิเวศของสายน้ำ แต่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีพันธกิจ “เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงและคงความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำในประเทศไทย” เงียบสนิทครับ (ผมไม่ได้พลาดไปจริงๆใช่ไหม?)
 
วันนี้จึงเรียนถามครับ ว่าทางกรมฯได้มีการศึกษาผลกระทบของทั้งสองเขื่อนและอีกหลายๆเขื่อนที่จะตามมาไว้อย่างไรบ้างครับ? โดยเฉพาะทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาในลำน้ำโขง ปริมาณปลาในลุ่มน้ำโขง ผมอยากเห็นกรมฯออกมาให้ความเห็นบ้าง ออกมาอยู่นอกกรอบของท่านบ้าง แสดงให้เห็นบ้างว่าท่าน “เห็นความสำคัญ” ของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพตามภารกิจของท่าน ลองขัดการไฟฟ้าบ้างว่าจะจัดหาไฟฟ้าก็อย่ามาให้กระทบกับทรัพยากรประมงที่ท่านดูแลอยู่ เพราะการรักษา yield โดยการปล่อยปลา (ที่ทางโครงการเขื่อนต่างๆมักจะจัดสรรงบให้ท่าน) หรือการรักษารายได้ของชาวประมงโดยการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาในกระชัง หรืออาชีพอื่นๆ  ในทางวิชาการแล้ว ไม่ใช่คำตอบของการอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพครับ อันนั้นมันเป็นการลดผลกระทบในส่วนของคุณค่าและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ไม่ใช่ส่วนของระบบนิเวศและชีวภาพ ผมเรียนขอร้องครับ ท่านช่วยออกมานอกกรอบตามกฏหมายตามที่ท่านได้ตอบผมไว้ ช่วยตอบคนสร้างเขื่อนหน่อยว่าปลาบึกมันข้ามบันไดปลาโจนไปผสมพันธุ์ตามธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่บอกว่าสร้างไปเถอะ แล้วเอางบมาเดี๋ยวท่านจะไปเพาะปลาบึกมาปล่อยให้ มันไม่เหมือนกันนะครับ! ช่วยแสดงให้ประชาชนได้เห็นเสียทีครับว่าท่านพร้อมที่จะทำตามภาระกิจของท่านจริงๆ ผมขอร้องครับ ผมไม่รู้จะพึ่งใครแล้วจริงๆ
 
เมื่อกี้เป็นเรื่องที่หนึ่งครับ อีกเรื่องที่ทำให้ผมต้องมีจดหมายถึงทางกรมฯอีกครั้งนั้น เนื่องมาจากว่าเพื่อนของผมไปเที่ยวที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ เพื่อนผมปั่นจักรยานผ่านแม่น้ำยวม พลันเหลือบไปเห็นฝูงปลาแหวกว่ายอยู่ เมื่อลงไปดูก็พบว่าเป็นปลากระแห ซึ่งมิได้เป็นปลาที่พบตามธรรมชาติในแม่น้ำยวมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวิน เมื่อศึกษาเพิ่มเติมจึงพบว่าเป็นโครงการของกรมประมงที่นอกจากปล่อยปลากระแหแล้วยังปล่อยปลาอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียนทอง ปลาบ้า ปลาสร้อยขาว ปลายี่สกเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่มิใช่ปลาท้องถิ่นของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลงไปตามโครงการ (บางข่าวว่า) ถึง 1 ล้านตัว ทั้งในระบบปิด(อ่างเก็บน้ำ บ่อเลี้ยงปลา) และ ระบบเปิด แม่น้ำ ลำธารต่างๆ ทั้งนี้ในการตอบจดหมายฉบับที่แล้วของกระผม กรมฯได้ตอบไว้ค่อนข้างชัดเจนถึงนโยบายที่จะไม่ปล่อยปลาต่างถิ่นลงสู่แหล่งน้ำในประเทศไทย กระผมจึงใคร่ขอเรียนอีกครั้งว่าคำว่า “ต่างถิ่น” นั้นมิได้หมายถึงพรมแดนของประเทศที่มนุษย์กำหนดขึ้น แต่หมายถึง “สัตวภูมิศาสตร์ - biogeography” ดังนั้นถึงแม้ว่าปลาจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในขอบเขต “การปกครองของมนุษย์” เดียวกัน แต่ก็สามารถที่จะเป็นชนิดพันธุ์ “ต่างถิ่น” ของกันและกันได้เนื่องจากการกระจายพันธุ์ทางสัตวภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ปลาในลุ่มแม่น้ำสาละวิน กับลุ่มน้ำอื่นๆของไทย เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก การที่ท่านปล่อยปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา/โขง ลงสู่ลุ่มแม่น้ำสาละวินเป็นล้านตัว จึงเป็นการปล่อยปลา "ต่างถิ่น” ตามหลักสัตวภูมิศาสตร์ ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วเป็นสิ่งที่มิควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นว่าในประเทศที่มีกฏหมายด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สมบูรณ์จะมีการห้ามขนส่งปลาน้ำจืดหรือแม้แต่อุปกรณ์ประมงข้ามลุ่มน้ำด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ในปัจจุบันทางกรมฯสามารถที่จะเพาะพันธุ์ปลาที่สามารถปล่อยในลุ่มน้ำดังกล่าวได้โดยไม่ผิดหลักวิชาการ เช่น ปลากดคังสาละวิน ปลาหนามหลังสาละวิน หรือ ปลาพลวง ซึ่งเป็นปลาของลุ่มน้ำสาละวินในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้กระผมจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้กรุณาทบทวนนโยบายในการปล่อยสัตว์น้ำใหม่ด้วยครับ 

ขอแสดงความนับถือ
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ประชาชน
 
ปล. เปลี่ยนชื่อกรมกลับมาเป็น กรมรักษาสัตว์น้ำ ดีไหมครับ?  ตรงประเด็นดี 



Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ดังนั้นถึงแม้ว่าปลาจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในขอบเขต “การปกครองของมนุษย์” เดียวกัน แต่ก็สามารถที่จะเป็นชนิดพันธุ์ “ต่างถิ่น” ของกันและกันได้เนื่องจากการกระจายพันธุ์ทางสัตวภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ปลาในลุ่มแม่น้ำสาละวิน กับลุ่มน้ำอื่นๆของไทย เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

ในทางกลับกัน...ปลาที่อยู่คนละขอบเขต"การปกครองของมนุษย์ในเชิงรัฐศาสตร์"ก็อาจเป็นชนิดพันธุ์"ร่วมถิ่น"ของกันและกันได้ เช่นแขนงแม่น้ำสาละวินบางส่วนที่ไหลไปอยู่ในเขตพม่า บางส่วนไหลไปในเขตไทย แต่พันธุ์ปลาก็คือปลาเครือข่ายเดียวกัน(ถ้าปลาชนิดนั้นๆแพร่กระจายไปในละแวกนั้นได้โดยธรรมชาติ)

ความเห็นที่ 2

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ