หายนะของทรัพย์สินรวม กับปลาอโรวาน่าเงิน
พอดีผมได้เอกสารเกี่ยวกับการจับลูกปลาอโรวาน่าเงินที่ประเทศเปรูมา อ่านแล้วได้ข้อคิดน่าสนใจเชื่อมโยงกับเรื่อง “หายนะของทรัพย์สินรวม” ที่ว่าจะเขียนถึงตั้งหลายทีแล้วได้เป็นอย่างดี ว่าแล้วก็เลยนั่งเขียนให้อ่านรวมๆกันไป ทั้งวิธีการจับปลา (ซึ่งคิดว่าผู้อ่านหลายๆท่านคงสนใจ) ความสำคัญของรายได้ รวมไปถึงการเชื่อมโยงถึงการทำลายและอนุรักษ์ปลาอโรวาน่าเงิน ที่ผู้อ่านหลายท่านคงจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ว่าแล้วก็เริ่มกันเลยนะครับ
อโรวาน่าเงิน (Osteoglossum bicirrhosum) จัดเป็นปลาในกลุ่มเดียวกับตะพัดและอโรวาน่าชนิดที่พบในทวีปเอเซีย, แอฟริกา และ ออสเตรเลีย ปลาในกลุ่มนี้ทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน ๗ ชนิด ทั้ง ๗ ชนิดเป็นปลาที่มีจำนวนไม่มากนักในธรรมชาติ ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติก่อนเลยก็คือเพราะเป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่ที่อยู่บนสุดของหวงโซ่อาหาร ปลาพวกนี้ในธรรมชาติจะมีจำนวนน้อยกว่าปลากินพืชและปลาเล็กอื่นๆอยู่แล้ว เหตุผลอีกข้อที่เกือบทุกชนิดมีจำนวนน้อยในธรรมชาติก็เพราะว่า เป็นปลาขนาดใหญ่ที่หากินผิวน้ำ ถูกมนุษย์จับได้ง่าย และในระยะหลังมานี่ก็ถูกจับมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม จนมีจำนวนน้อยลงมาก
ปลาอโรวาน่าเงิน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน และอีกหลายแม่น้ำในทวีปอเมริกาใต้ ในเขตประเทศบราซิลนั้นปลาชนิดนี้ถูกจับเป็นปลาเนื้อส่งขายในตลาด แต่ในประเทศเปรู ไม่นิยมรับประทานปลาชนิดนี้แต่ก็มีการจับพ่อปลาที่กำลังอมไข่เพื่อนำลูกมาขายป้อนตลาดปลาสวยงามไปทั่วโลก ครับ หลายๆท่านคงทราบกันดีว่า อโรวาน่าทุกชนิดเป็นปลาที่พ่อปลาจะอมไข่ไว้ในปากและเลี้ยงดูลูกปลาจนโตในระดับหนึ่งก่อนที่จะปล่อยออกไปเผชิญโชคด้วยตัวเอง
สำหรับปลาอโรวาน่าเงินนั้น พ่อปลาจะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ ๒ ปี และในแต่ละครั้งจะอมไข่ได้ประมาณ ๙๐-๒๐๐ ฟอง และจะใช้เวลาเลี้ยงลูกประมาณ ๔ ถึง ๖ สัปดาห์จึงปล่อยให้ลูกปลาออกไปหากินด้วยตนเอง
มีรายงานว่าในปีค.ศ. ๒๐๐๑ ประเทศเปรูส่งออกลูกปลาอโรวาน่าเงินมากกว่าหนึ่งล้านตัว มีมูลค่ารวมกันกว่า ๒๐ ล้านบาท และอโรวาน่าเงินก็ถือเป็นสินค้าปลาสวยงามหลักของประเทศเปรู คือมีมูลค่ารวมกว่าร้อยละ ๔๒ ของมูลค่าการส่งออก (ลองๆลงมาคือ ปลาแมวเรดเมล, ไทเกอร์, และ อ๊อตโตซินคลัส) โดยแต่เดิมปลานีออนถือเป็นสินค้าหลักแต่ก็ต้องเลิกไปเพราะสู้ราคาปลาที่เพาะในที่เลี้ยงจากประเทศแถบเอเชียไม่ได้
ฤดูกาลจับปลาอโรวาน่าเงินในประเทศเปรูจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นต้นฤดูฝนของทางซีกโลกใต้ ในช่วงนี้น้ำในแม่น้ำอเมซอนจะเริ่มไหลหลากเข้าท่วมป่าริมน้ำ ปลาอโรวาน่าเงินจะตามน้ำท่วมเข้าไปหากินเพราะอาหารของปลาอโรวาน่าเงินซึ่งเป็นปลาที่กินแมลงและปลาเล็กเป็นหลักจะอุดมสมบูรณ์ในฤดูนี้ พ่อแม่ปลาจะเริ่มวางไข่และอมไข่กันในช่วงนี้ของทุกปี ฤดูกาลจับปลาจะยาวไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม เมื่อน้ำขึ้นสูงสุด ทำให้ปลากระจายกันไปในพื้นที่กว้าง ทำให้การจับปลาเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น และหาปลาที่กำลังอมไข่ได้น้อยลง
วิธีการจับปลาอโรวาน่าเงินในประเทศเปรูนั้นมีอยู่ ๒ แบบ จาก ๒ กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นชาวประมงที่อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ มีบ้านอยู่เป็นหลักเป็นฐานในแหล่งนั้นๆ มีครอบครัว มีการจัดการ แบ่งสันปันเขตกันอย่างเป็นระบบและมีการควบคุมอีกทีจากรัฐบาล ปลาในเขตนี้ จะจับด้วยการวางตาข่าย ที่มีตากว้างประมาณ ๑๐ -๑๒ ซม. ความยาว ๕๐-๑๑๕ เมตร และลึก ๓-๔ เมตร ในตอนกลางคืน จะเห็นว่าตาข่ายมีรูขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาตั้งใจจะจับแต่ปลาขนาดใหญ่เท่านั้น ที่นี้ถ้ามีปลาอโรวาน่าเงินว่ายมาติด ชาวประมงกลุ่มนี้ก็จะรีบไปปลดออก ถ้าเป็นปลาตัวเมียก็ปล่อยไป ถ้าเป็นตัวผู้ที่กำลังอมไข่ ก็จะทำการง้างปากเอาลูกปลาออก แล้วปล่อยไปเช่นกัน ชาวประมงกลุ่มนี้บอกว่ามีหลายๆครั้งที่ปลาตัวผู้อมไข่ที่จับได้จะมีรอยแผลจากการถูกตาข่ายมาก่อนซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาที่ปล่อยไป อยู่รอดและผสมพันธุ์ได้
ส่วนชาวประมงอีกกลุ่มหนึ่ง อยู่นอกเขตอนุรักษ์ ชาวประมงกลุ่มนี้ ต่างคนต่างอยู่ ต้องแย่งกันใช้พื้นที่ในการจับปลา พวกเขาใช้ตาข่ายในการจับเหมือนกัน แต่ถ้าเห็นปลาติดเมื่อไหร่ก็จะฆ่าทันที เพื่อกันปลาตกใจกลืนกินลูกตัวเองหรือหนีไปขณะที่ปลดออกจากตาข่าย นอกจากนั้นพวกเขายังใช้ฉมวกและปืนในการล่าด้วย จากการสัมภาษณ์ ชาวประมงบอกว่า “ถ้าเขาไม่ฆ่า คนอื่นก็ฆ่าอยู่ดี”
โดยเฉลี่ยแล้วในคืนหนึ่งชาวประมงที่โชคดีจะจับปลาตัวผู้ที่อมไข่ได้ประมาณ ๒-๓ ตัว ได้ลูกปลาพ่อละ ๙๐ – ๒๐๐ ตัว รวมแล้วมีรายได้เฉลี่ยจากการจับพ่อปลาได้ประมาณพ่อละ ๔๖๘ บาท ถึง ๘,๙๗๐ บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกปลาที่ได้จากแต่ละพ่อและราคาของลูกปลาในขณะนั้น (ต้นและปลายฤดูจะได้ราคาดีเป็นพิเศษ) สำหรับชาวบ้านที่ยากจนกลุ่มนี้ รายได้จากการจับลูกปลาอโรวาน่าเงินถือเป็นรายได้สำคัญของครอบครัวเลยทีเดียว
ย้อนกลับมาดูความแตกต่างของวิธีการจับปลา กลุ่มหนึ่งมีการดูแลและจัดการที่ดี พวกเขาไม่ฆ่าพ่อปลาแต่ปล่อยไปเพื่อให้กลับไปผสมพันธุ์ได้อีก อีกกลุ่มหนึ่งเจอก็ฆ่าเลย เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาได้ลูกปลาในครั้งนี้แน่ๆ แต่พวกเขาก็ทำให้จำนวนพ่อปลาลดลง ซึ่งการฆ่าพ่อพันธุ์ของปลาที่ต้องใช้เวลาเติบโตถึง ๒ ปีนั้นถือเป็นเหตุที่ทำให้จำนวนปลาลดลงได้ และความแตกต่างที่ชัดเจนของสถานะภาพของชาวประมง ๒ กลุ่มก็คือ กลุ่มแรกมีการจัดการพื้นที่ เป็นเจ้าของพื้นที่ และควบคุม จำนวนชาวประมงได้ ในขณะที่กลุ่มที่สองจับปลาในเขตสาธารณะ ในรูปแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
ซึ่งกลุ่มหลังนี้เข้าแนวคิดเรื่อง “หายนะของสินทรัพย์รวม” อย่างชัดเจน ซึ่งจะขออธิบายคราวๆของแนวคิดอันนี้ว่า “ในการใช้ทรัพยากรซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของนั้น ถ้าต่างคนต่างใช้โดยไม่มีการตกลงกันให้ดี ทุกคนจะแย่งกันฉกฉวยผลประโยชน์เข้าตัวเองให้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่าผลเสียจากการฉกฉวยนั้นจะตกแก่ส่วนรวมในภายหลัง” พูดง่ายๆก็คือ การฉกฉวยนั้นเป็นประโยชน์เข้าตัว เนื้อๆตรงๆ (ได้ลูกปลาไปขายแน่ๆ) แต่ผลเสียนั้นมันกระจายกันไปในส่วนรวม (พ่อปลาตัวนี้ปล่อยไปก็ใช้ว่าปีหน้าเราจะจับได้อีก ฆ่าเสียคราวนี้ให้ได้ลูกแน่ๆดีกว่า เราปล่อยไปคนอื่นก็ฆ่าอยู่ดี) ในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์คล้ายๆแบบนี้ เช่นตอนที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขอให้ชาวประมงเลิกจับปลาบึกในลำน้ำโขงนั้น ชาวประมงไทยให้เหตุผลว่าถึงแม้พวกเขาจะไม่จับ คนลาวก็จับอยู่ดี
สรุปก็คือ ผลประโยชน์มันจับต้องได้ใกล้ชิด แต่ผลเสียมันกระจายๆกันไป ต่างคนจึงไม่มีใครดูแลผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม แต่จ้องที่จะหาผลประโยชน์เข้าตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ในที่สุดแล้ว ทรัพยากรดังกล่าวก็จะถูกใช้จนเสื่อมสภาพในที่สุด
วิธีแก้มีอยู่เพียง ๒ ทาง คือ ๑. การสร้างจิตสำนึกของความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในทรัพยากรนั้นๆในแต่ละบุคคล ๒. การใช้กฎที่เข้มงวดจากส่วนกลางในการควบคุมการใช้ทรัพยากรนั้นๆ ซึ่งวิธีการแรกนั้นทำยากแต่ยั่งยืนและถาวรกว่า
อ้างอิง Moreau, M-A & OT Coomes, 2006. Potential threat of the international aquarium fish trade to Silver Arawana Osteoglossum bicirrhosum in the Peruvian Amazon. Oryx 40: 152–160
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
๑. การสร้างจิตสำนึก...
ไอ้ข้อแรกนี้ก็ยากแล้วนะพี่ เห็นแล้วท้อใจ
การสร้างจิตสำนึกมันทุกเรื่องจริงๆ แต่ถ้าสร้างได้ก็ยาวนานและถาวร ฮ้อยย... - -*
ความเห็นที่ 2
ส่วนใหญ่ลูกปลาอโรวานาเงิน ที่ขายในตลาด JJ ของไทย จะเป็นปลาเพาะหรือนำเข้าครับ?
(ผมว่าน่าจะเป็นปลาเพาะนะ เพราะราคาไม่สูงมาก ไม่เกิน 500 บาท ถ้านำเข้าคงจะแพงกว่านี้)
ความเห็นที่ 3
มีปลาเพาะบางส่วน แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่ายังเป็นปลาจับครับ
ความเห็นที่ 4
คนที่คิดแบบ "ชาวประมงบอกว่า “ถ้าเขาไม่ฆ่า คนอื่นก็ฆ่าอยู่ดี”" ยังมีอีกมากในเมืองไทย แม้กระทั่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย บริหารประเทศ ทรัพยากรและประเทศเรา ถึงฉิบหายอย่างที่เห็นไง
ความเห็นที่ 5
ความเห็นที่ 6
ไม่ได้เจอกันนานเลยนะ
อ่านแล้วทั้งได้ข้อคิดและน่าเป็นห่วงอนาคตของมนุษย์จริง ๆ