สัตว์กับป่า
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์, ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์
แสงไฟรถส่องกระทบ “ช้าง” เกือบ 8 ตัวที่หากินอยู่ข้างถนนที่ตัดผ่านป่าเขาอ่างฤาไน ลูกช้างเดินข้ามถนนมายังฝั่งซ้ายมือที่แม่ช้างยืนอยู่ แม่ช้างเริ่มแสดงอาการหงุดหงิด ท่าทางตึงเครียด ร้อง “แปร๋น” ดังลั่น ทำท่าพร้อมจะวิ่งเข้าใส่
เป็นเช่นนี้เสมอ ไม่ว่าช้างหรือสัตว์ป่าชนิดใด พวกเขาไม่เคยไว้วางใจ และไม่ยอมให้คนเข้าใกล้เกินกว่าระยะที่เขากำหนด ถึงแม้ว่าในมือของคนที่พยายามเข้าใกล้จะมีเพียงกล้องถ่ายรูปกับสมุดบันทึกก็ตาม
…………………..
กลางเดือนพฤษภาคม ป่าเต็งรังในป่าห้วยขาแข้ง เริ่มผลิใบแตกกิ่งก้านเขียวสด หลังจากยืนต้นทนกับความแห้งแล้ง และไฟป่าอย่างยาวนาน ใบสีเขียวอ่อนๆ เป็นพุ่มของต้นปรงตัดกันได้ดีกับลำต้นสีดำของมันที่โดนไฟป่าไหม้ หลังไฟป่าผ่านพ้นไป เมื่อฝนแรกตกลงมา ป่าทั้งป่าก็ดูเขียวชอุ่ม
รอยตีนของโขลงช้างปรากฏอยู่ทั่วบริเวณ โคลนดินติดกับต้นไม้สูงเกือบสองเมตรนั้น เกิดจากสีข้างของช้างที่เดินเบียดผ่านไป ปลักโคลนข้างๆ กอไผ่มีรอยช้างย่ำไว้ทั่ว ทางด่านที่ช้างเดินนั้นราบเรียบ โขลงช้างจะนำฝูงโดยจ่าฝูง ซึ่งเป็นตัวเมียอาวุโสมีประสบการณ์ เธอจะรู้ดีเสมอว่า เวลาใดจะต้องพาลูกฝูงไปที่ไหน โดยปรกติช้างจะหากินเป็นวงรอบชัดเจน โดยมันจะย้อนกลับมาที่เดิมในเวลาใกล้เคียงกับที่เคยทำไว้ สัตว์ป่าอื่นๆ รู้ความจริงข้อนี้ดี ดังนั้นเส้นทางที่ช้างใช้จึงเป็นเส้นทางที่สัตว์ป่าอื่นๆ ได้อาศัยเดินตามไปยังสถานที่ดังกล่าวได้ถูกต้อง และในเวลาอันเหมาะสมด้วย
ไม่เพียงแต่เดินตามด่านช้างจะราบสบายเท่านั้น ยอดไม้รวมทั้งกิ่งผลที่อยู่สูง ซึ่งช้างดึงลงมา ก็ทำให้สัตว์กินพืช จำพวกเก้ง กวาง วัวแดง และ กระทิงที่เดินตามหลังมีโอกาสได้ลิ้มรสบ้าง รอยช้างโน้มยอดไผ่มากิน รอยตีนแต่ละรอยใหญ่ขนาดลงไปนั่งขัดสมาธิได้ ข้างๆ รอยใหญ่นั้น มีรอยเล็กๆ ของลูกช้างปรากฏอยู่ใกล้ๆ ลูกช้างจะถูกประกบไว้ด้วยแม่หรือช้างพี่เลี้ยงอย่างแน่นหนา เพราะลูกช้างตัวเล็กๆ นั้นเป็นเป้าหมายของเสือโคร่ง
ด่านช้างมักนำไปสู่โป่ง และปลักเสมอ โป่งคือแหล่งเสริมเกลือแร่ของบรรดาสัตว์กินพืช โป่งมี 2 ประเภท อย่างแรก คือ โป่งดิน ซึ่งเป็นบริเวณดินที่มีเกลือแร่ผสมอยู่ อย่างที่สอง คือ โป่งน้ำหรือน้ำซับเป็นบริเวณที่มีน้ำผุดออกมาตลอดทั้งปี ที่สำคัญในน้ำนั้นก็มีเกลือแร่ผสมอยู่ด้วย สัตว์กินพืชได้รับเกลือแร่จากการกินดินโป่งหรือดื่มน้ำซับนี้เข้าไป
ช้างจ่าฝูงตระหนักดีว่า หากปล่อยให้เด็กๆ กินแต่หญ้ากับใบพืช แคลเซียม และเกลือแร่ที่ได้รับย่อมไม่เพียงพอ กระดูก และร่างกายก็จะไม่แข็งแรง จึงต้องพาเด็กๆ ไปกินโป่งด้วยเสมอ โป่งไม่เพียงแต่เป็นที่ชุมนุมของสัตว์กินพืชเท่านั้น เมื่อมีเหยื่อ สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง เสือดาวหรือแม้กระทั่งหมาในก็มักมาสังเกตการณ์แถวๆ โป่งอยู่เสมอ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ห่างจากโป่งนักจะมีปลักอยู่ด้วย ปลักคือบริเวณที่สัตว์จำพวกเก้ง กวาง หมูป่าจนถึงช้าง จะลงนอนคลุกโคลนในปลัก เมื่อโคลนเคลือบตัวมันแล้วจะช่วยกันพวกแมลงที่คอยรบกวนได้บ้าง
สัตว์ป่าทุกตัวทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด หมูป่าหลายตัวขุดหารากไม้ พรวนดินจนร่วนซุยไว้รอเมล็ดไม้ที่นกเงือก และบรรดานกกินลูกไม้ถ่ายออกมา เมื่อสภาพแวดล้อม ความชื้น และอุณหภูมิเหมาะสมก็จะงอกออกมาเป็นต้นกล้าแล้วเติบโตเป็นไม้ใหญ่ของป่าในวันข้างหน้าต่อไป
บรรดานกกินแมลงรวมกลุ่มกัน โฉบจับแมลงเป็นหน้ากระดาน ด้วยขนาดตัวที่เล็ก และเพื่อความปลอดภัย จึงต้องรวมกลุ่มกันหากิน เพราะอาจล้ำเข้าไปในอาณาเขตของนกตัวอื่น นอกจากนั้นหากมีนกผู้ล่าอย่าง เหยี่ยว ก็จะได้แตกฮือเอาตัวรอดกันไปคนละทาง อีกทั้งยังช่วยไล่แมลงออกมาให้จับกินด้วย นกหัวขวานใช้ปากเจาะไม้ดังโป๊กๆ โป๊กๆ สลับกับเอาหูแนบฟังเสียงแมลงที่อยู่ข้างใน เมื่อพบก็ใช้ลิ้นยาวๆ ที่มีน้ำลายเหนียวๆ จับมากิน
บนพื้นดิน สัตว์กินพืชช่วยกันควบคุมปริมาณของหญ้า และพืชทั้งหลายไม่ให้มีมากจนเกินความสมดุล ในขณะที่เสือกำลังซุ่มรอเหยื่อในพุ่มไม้อย่างอดทน
ชีวิตในป่าก็เป็นเช่นนี้ ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาหรือการล่า ทุกชีวิตแสดงออกต่อกันอย่างชัดเจน
มองชีวิตในป่า ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ชีวิตในเมือง ‘ห่างไกล’ จากการแสดงออกต่อกันอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา มากเพียงใด
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
อ่านแล้วนึกถึงคอลัมน์ ประชากรชาวดง ในนิตยสาร ดิฉัน (ของ มล.ปริญญากร วรวรรณ)
ความเห็นที่ 2
เห็นด้วยกับด้านบน ลีลาและจังหวะใกล้เคียงมากครับ
ความเห็นที่ 3
เห็นด้วยครับ ผมว่าคุณ forest72 คงต้องปรับแล้วผมว่ามันชักจะเหมือนเกินไปแล้วนะครับอันนี้พูดจริงๆ
ความเห็นที่ 4
ทุกๆ เส้นทาง มักจะมีผู้ "เดินทางล่วงหน้า" เราไปเสมอ การเดินตามไปในเส้นทางเดียวกันไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกวันนี้ถึงผมจะผ่านเส้นทางมามากมาย แต่ก็ยัง เดินตามเส้นทางของคนอื่น อยู่เสมอ แต่สักพัก... ผมจะเจอเส้นทางของตัวเอง และ ... เป็นของผมจริงๆ