เพลินไปกับสัตว์ไพรที่ป่าสะแกราช

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: พงษ์พิทักษ์ ศรีบัณฑิต

         นกและสัตว์ป่าที่พบในป่าสะแกราช อ. วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมานั้น มีจำนวนชนิดไม่น้อยเลย เรียกได้ว่า มีให้ศึกษาได้อย่างดียิ่ง และบริเวณโดยรอบสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ รวมถึงบนป่าสะแกราชอันเป็นพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชนั้น ประกอบด้วยป่า 2 สังคมพืชด้วยกัน เช่น บริเวณรอบสถานีจะเป็นป่าดิบแล้ง ซึ่งจะมีต้นไม้ เช่น ต้นยางนา สูงใหญ่ และจะมีไม้พื้นล่างขึ้นหนาแน่นพอทึบ ส่วนป่าสะแกราช บริเวณสันพะยอมนั้น เป็นป่าเต็งรัง ที่มีต้นไม้ขึ้นยืนต้นห่างกัน เป็นไม้ที่เปลือกหนา อย่างเช่น ต้นเต็ง รัง พะยอม เป็นต้น

         ด้วยสภาพสังคมพืชที่ต่างกันสองสังคมนี้ ทำให้เราสามารถสังเกตชนิดพันธุ์สัตว์ที่อาศัยของแต่ละสังคมป่า โดยแยกจากถิ่นอาศัยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาดูนกด้วย เช่น นกกระทาทุ่ง เราสามารถพบมันได้ในป่าเต็งรัง หรือทุ่งหญ้าโล่ง เราไม่สามารถพบนกชนิดนี้ในป่าดิบแล้ง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับนกขุนแผนอกส้ม ที่เราจะพบมันได้ในป่าดิบแล้ง ที่ไม่อาจพบมันหากินในป่าเต็งรัง สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราสามารถ ประเมินชนิดนกหรือสัตว์ป่าที่อาจพบในแต่ละสังคมป่าได้

          ในการแนะนำนกและสัตว์บางชนิดที่สำรวจพบของสถานีฯ นั้น จะแนะนำเป็นเวลาตั้งแต่ช่วงเช้า ไปจนถึงค่ำคืน โดยจะพาไปเดินดูรอบๆ บริเวณสถานีฯ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เริ่มกันที่เวลา 06.30 น. ที่ทุกคนตื่นเช้าพร้อมกันแล้ว เราสามารถเริ่มดูนกได้ตั้งแต่จุดรวมพลของเรา อาจเป็นสนามบาส หน้าเสาธงชาติ แนวต้นไม้รอบๆ สนามนี้ มีนกแวะเวียนมาให้เราดูไม่ขาดเลยทีเดียว เริ่มคู่แรกที่อาจมาทักทาย คือ นกพญาไฟใหญ่ สีเหลืองสดของเพศเมียและและแดงเพลิงของเพศผู้ ราวกับคู่พระอาทิตย์และจันทรา มักได้ยินเสียงร้อง “วี้ด ๆ” แหลมใสมาก่อนเห็นตัว นอกจากนี้ ยังมักพบนกขมิ้นน้อยธรรมดา ที่มักร้อง “จี้ด เจี้ยว” หลายตัวบินหาหนอน แมลงกินเป็นอาหาร บริเวณต้นคูนด้านขวามือ อาจพบนกจับแมลงสีฟ้าได้ ลองส่องหาดูให้ดี เสียงแหบดัง “แคร่ๆ” ของนกขมิ้นท้ายทอยดำ และอาจได้ยินเสียงร้องเป็นทำนองเพลง ของนกกางเขนดง ที่อยู่บริเวณแนวไม้ ข้างหอพระพุทธรูป

          ขยับเดินออกมาที่ถนนตรงระหว่างสนามบาสกับโรงอาหาร หากต้นไม้ใหญ่บริเวณนี้ออกดอก มักพบนกกินปลีอกเหลือง, นกกินปลีคอแดง และนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มาหากินน้ำหวานดอกไม้ ในแนวพุ่มไม้พื้นล่าง หลังโรงครัวนั้น ลองมองเข้าไป อาจพบนกจับแมลงจุกดำ หากินแมลงอยู่ ที่ต้นหางนกยูงใหญ่ใกล้กันด้านซ้ายมือ มักพบกระรอกหลากสี ซึ่งที่นี่ ลำตัวจะเป็นสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว วิ่งไล่กันไปมาเป็นคู่ แนวต้นกล้วยป่าหลังโรงครัวนี้ มักพบและได้ยินเสียง นกกินปลีกล้วยเล็ก บินย้ายไปตามปลีกล้วย แทงปากเข้าดูดน้ำหวานที่ดอกกล้วยแต่ละหัวปลีอย่างใจเย็น

          ลองฟังเสียงนกรอบๆ ตัว จะได้ยินเสียง “โกเต็กๆ” ของนกโพระดกหน้าผากดำ ที่มักเกาะสูงอยู่บนต้นยางนาแห้งตายกลางฝายกั้นน้ำ เสียงนกโพระดกธรรมดา ที่มักร้อง “กลัวตก” เสียงนกโพระดกหูเขียว ที่ร้องรัวเร็วว่า “โพ ระ ดก” และเสียง “ต๊งๆ” ของนกตีทอง ก็มีให้ฟัง หรืออาจบินผ่านหน้าเราไปก็ได้ หากต้นข่อยป่า ริมลำห้วย บริเวณหลังบ้านหัวหน้าสถานีฯ ออกผลสุกแล้วล่ะก็ สามารถพบฝูงนกปรอดเหลืองหัวจุก (ชนิดย่อย ซึ่งมีขนใต้คางสีแดง) หลักสิบตัวขึ้นไป เข้าปลิดผลข่อยกินกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงนกปรอดสวน, ปรอดคอลาย และนกปรอดเล็กตาขาว ที่ร้องเสียง “อาย อ่ะ” ด้วย

          ที่ต้นยางนาใหญ่ แห้งตายกลางลำห้วยนี้ ลองสังเกตให้ดี หากมีรังผึ้งเกาะอยู่ อาจพบนกจาบคาเคราน้ำเงิน กำลังจิกกินผึ้ง ตรงรังอย่างหน้าตาเฉย ร้องเสียง “ค่อกๆ” ได้ บริเวณริมน้ำนี้ อาจพบนกกระเต็น ซึ่งสามารถพบได้ถึง 3 ชนิด คือ นกกระเต็นอกขาว นกกระเต็นหัวดำ และนกกระเต็นน้อยธรรมดา สองชนิดหลังจะอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น

           เดินเลยไปหน่อยบริเวณหลังบ้านอาจารย์หลังเก่า ใกล้กันนี้ หากต้นตาเสือ ออกผลสุก เราจะได้เห็นฝูงนกแขกเต้า ที่มักส่งเสียงร้องดังโวยวาย เข้ามากินผลตาเสือ และเดินต่อไป บริเวณหลังบ้านพักอาจารย์ มองหาต้นไทรที่อยู่ริมลำห้วย หากตรงช่วงออกผลสุก จะได้หยุดดูนกตรงนี้นานเลยทีเดียว มีทั้งฝูงนกเขียวคราม ฝูงนกเขาเปล้าธรรมดา นกปรอด นกโพระดกชนิดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็มาร่วมแจมด้วย นอกจากนี้ ยังอาจพบฝูงนกขุนทอง ร้อง “เจี้ยว” นับสิบตัว มองต่ำลงมาบริเวณข้างบ้านพักอาจารย์นี่เอง ที่มักพบไก่ป่าตัวเมียพาลูกเจี้ยบน้อยๆ ออกหากิน

           หลังจากช่วงเช้าที่เดินดูนกบริเวณรอบๆ แล้ว หลังกินข้าวเสร็จอาจเดินขึ้นไปที่ป่าเต็งรังสันพะยอม ห่อข้าวกันไปกินด้วยกันกลางป่าจะได้มีเวลาดูนกนานขึ้นอีก เดินขึ้นจากทางหลังห้องน้ำ พุ่มไม้หลังห้องน้ำนี้ สามารถพบนกบั้งรอกใหญ่ได้ เดินออกมาข้ามถนน ก่อนจะเข้าป่าอีกฝาก บางที อาจได้ยินเสียงร้องของเหยี่ยวรุ้ง ลองแหงนคอมองหา จะพบเหยี่ยวป่าชนิดนี้ บินร่อนหาอาหารเหนือแนวเขาป่าเต็งรัง เดินขึ้นเนินในซุ้มของป่าดิบแล้ง ที่เล่นเอาเหนื่อยหอบไปตามๆกัน อาจได้ยินเสียงนกกินแมลงอกเหลือง นกกระจิบคอดำ ด้วย

            ลานหินบริเวณนี้ สามารถหยุดสังเกตสรรพสิ่งรอบตัวได้ อาจได้ยินเสียงหรือเห็นตัวของนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ในป่านี้ มีกลุ่มนกแซงแซวอยู่หลายชนิดทีเดียว ช่วงนี้ จะได้พบนกแซงแซวสีเทา รวมถึงแซงแซวหางปลา แซงแซวเล็กเหลือบ และแซงแซวหงอนขน บินร่อนกลางอากาศ จับแมลงเป็นอาหาร เดินตามทางในป่าเต็งรัง เพื่อขึ้นไปยังสันพะยอม อาจพบคลื่นนก ที่นกกินแมลงเป็นอาหาร รวมตัวกันหากิน เช่นฝูงนกพญาไฟสีเทา นกไต่ไม้หน้าผากกำมะยี่ นกหัวขวานด่างแคระ   เป็นต้น อีกทั้งหากต้นก่อแพะ ซึ่งเป็นพืชตระกูลก่อที่พบในป่าเต็งรัง ออกผล อาจได้พบฝูงนกปีกลายสกอต เข้ากินผลไม้ชนิดนี้ 

            บริเวณทางเดินป่าเต็งรังนั้น มีโอกาสที่จะพบฝูงนกกระจิบหญ้าสีข้างแดง บินหากินกระโดดไปตามยอดหญ้าเพ็กได้ไม่ยาก มองต่ำลงไปอีก อาจพบกองดินขนาดย่อม หลายกองที่พูนขึ้นมา บริเวณเดียวกัน เป็นกลุ่มๆ ใต้กองดินแต่ละกองนั้น คือ อาณาจักรบ้านของอ้น—สัตว์ฟันแทะ ที่กินรากพืช รากต้นไม้ เป็นอาหาร ซึ่งที่ป่าสะแกราช พบทั้งชนิดอ้นเล็ก และอ้นใหญ่

             เดินขึ้นมาจนถึงสามแยกสันพะยอม ระหว่างนั่งพักเหนื่อย หรือระหว่างทานข้าว ลองมาหาตามพุ่มใบ อาจพบนกเค้าโมงเกาะเนียนอยู่ตรงไหนสักแห่งของต้นไม้ หรืออาจเป็นเหยี่ยวนกเขาชิครา อาจได้ยินเสียงคล้ายคนหัวเราะ แหลมกระชั้นถี่ คือ เสียงของนกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง บินเปลี่ยนต้นไม้เจาะหาหนอนกินเป็นอาหาร เหยี่ยวนกกระจอกเล็ก ก็เคยสามารถพบได้ในบริเวณนี้ ในช่วงอากาศร้อนของวัน อาจมีคาคบไม้ที่มีน้ำขังอยู่ อาจได้เห็นนกเล่นน้ำ เช่น ฝูงนกปรอดหัวสีเขม่า ลงเล่นน้ำ แล้วเกาะไซร้ขนอยู่บริเวณนั้น เป็นต้น

             หาก แรงยังพอเหลือ แล้วใจพร้อมสนุกที่จะไปต่อ แนะให้เดินต่อไปตามเส้นทาง เพื่อเข้าสู่ป่าดิบแล้งของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งสามารถพบนกในป่าดิบแล้งที่น่าสนใจอีกหลายชนิด เช่น ฝูงไก่ฟ้าพญาลอ ที่โอกาสเห็นนั้น มีเยอะมาก เพราะป่าแห่งนี้ มีอยู่หลายฝูง เดินหากินโชว์ตัวกันบนถนนลาดยางที่ตัดผ่านป่าเลยทีเดียว แถมไม่มีกลัวคนด้วย! รวมถึงฝูงนกกระรางหัวหงอก กระรางสร้อยคอเล็ก ที่แม้ไม่ได้เห็นตัว ก็ได้ยินเสียงโวยวายของพวกมันลั่นป่าอย่างแน่นอน เสียงนกระวังไพรปากยาว ที่มักร้องใบหวย ว่า “หก เก้า หก” ตลอดเวลา นกขุนแผนอกสีส้ม นกสาลิกาเขียวก็พบได้ไม่ยาก หากไม่ส่งเสียงดังจนเกินไป อีกทั้งมีสิทธิ์พบเห็นสัตว์ป่า อย่างหมูป่า, กระรอกปลายหางดำ, และ เก้ง ได้ด้วย

              อ๋อ! ช่วงทางเดินกลางป่าเต็งรังโล่งๆ ก่อนเข้าป่าดิบแล้ง จากสันพะยอมขึ้นมา อาจพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ บินร่อน ซึ่งเป็นชนิดย่อยประจำถิ่น ในช่วงฤดูอพยพ อาจพบนกอพยพอีกหลายชนิด เช่น นกจับแมลงสีน้ำตาล จับแมลงคอแดง อีเสือสีน้ำตาล อีเสือหลังแดง เป็นต้น

              พากลับ มาที่ตัวสถานีฝึกฯ หากไม่ได้ออกไปไหน หรือพักกลางวันในช่วงแดดร้อน ลองล่อนกมาเล่นน้ำ ด้วยการเปิดสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้บริเวณนั้น ไม่นานเกินรอ สักพัก นกกินปลี นกปลีกล้วยเล็กก็จะมาเล่นน้ำให้เราดูใกล้ๆ แบบไม่ใช้กล้องสองตา ส่วนใครมีกล้องถ่ายรูป อาจไปรอตรงกอดาหลา ข้างบ้านพักหัวหน้าสถานีฯ โอกาสจะได้ภาพนกปลีกล้วยเล็ก กับดอกดาหลาชมพูหวานก็ไม่ใช่ยากจนเกินไป

              พอตกเย็นนกกลางคืน อย่างนกเค้าโมง จะร้องประกาศตัวให้ได้ยิน ตั้งแต่หัวค่ำ ไม่แน่ อาจพบนกเค้าหูยาวเล็ก ด้วยเช่นกัน ลองส่องไฟหาดู หากต้นคอแลน—ลิ้นจี่ป่า หลังบ้านพักอาจารย์หลังเก่าออกผลสุก เราอาจได้พบกระรอกบินเล็กแก้มขาว ที่เป็นกระรอกที่ออกหากินยามค่ำคืน และเคลื่อนที่โดยใช้พังผืดข้างตัวช่วยในการร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีก ต้น ต้นลูกดิ่ง ที่ขึ้นอยู่ริมฝายน้ำนั้น หากออกผล เช่นกันลองส่องไฟไปตามเรือนยอดของต้นนี้ อาจพบสัตว์หากินกลางคืน อย่างอีเห็นเครือ, อีเห็นข้างลาย ออกหากินบนต้นลูกดิ่งนี้ก็เป็นได้

              ยัง มีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ไม่ได้บอกกล่าวไว้ตรงนี้ อาจจะด้วยยังไม่เคยได้พบเห็นกันหรือจดจำไม่หมด แต่สำคัญว่า หากรู้หมดแล้วมันจะไปสนุกอะไรเล่า! ลองสังเกตและค้นหา พบเจอสัตว์ป่าชนิดไหน เก็บความประทับใจมาบอกกล่าวกันบ้างนะครับ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

การได้นั่งดูไก่ฟ้าพญาลอที่สะแกราช เป็นไฮไลท์หนึ่งของชีวิตครับ

ความเห็นที่ 2

ถ้าจะไปติดต่อ  ได้ที่ไหนอ่ะครับ

ความเห็นที่ 3

สามารถติดต่อได้ที่ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสแกราชเลยครับ
รายละเอียดตามนี้เลยครับ
 http://www.tistr.or.th/sakaerat/index.php

ความเห็นที่ 4

ใข่ครับ นกพญาไฟใหญ่ เหมือนจะมาทุกเช้าเลย   มาเข้าแถวเคารพธงชาติ

ความเห็นที่ 5

ความงามของธรรมชาติที่ไม่อาจบรรยายได้เสมือนได้พบก้บตาต้นเอง