คำบอกเล่า
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์
“ช้างนำโขลงฝูงนี้ ชาวบ้านหลังเขา เรียกมันว่า ‘ไอ้ด้วน’ เพราะปลายหางของมัน กุดขาดไป เชื่อกันว่า ช้างป่าพวกนี้มี ‘หูทิพย์’ รับรู้ในสิ่งที่คนพูดถึงมัน ครั้งหนึ่ง มีคนในหมู่บ้านพูดเมื่อเจอรอยตีนของฝูงมันว่า “ไอ้พวกนี้ ถ้าเจอจะจับมาขี่คอ ไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดซะให้เข็ด” พอเช้าเท่านั้นแหละ ข้าวในนาของแกก็เละจมโคลน เมื่อเจ้าด้วนพาฝูงมาลงเล่น”
“ป่าหลังเขา ยังสมบูรณ์ คนอพยพมาจับจองที่ดินทำกิน ส่วนปู่กับย่าพาพ่อและอา ป้าของเอ็ง ไปตัดไม้เผาถ่านที่นั่น พอได้ถ่านเต็มเล่มเกวียน ก็เอาเทียมควายหนุ่มทั้งสองตัวมาขาย ที่ตลาด”
“ชาวบ้านอาศัยน้ำซับที่ไหลออกมาเป็นพุน้ำตลอดเวลาไว้ดื่มกิน ต้นพริกริมบ่อน้ำซับ ต้นโตและออกเม็ดให้เก็บกินได้ตลอด ต้นพริกนี้นกปลูกไว้ เมื่อมันกินแล้วมาขี้เม็ดไว้ตรงนั้น แย้ขนาดตัวเท่าสามถึงสี่นิ้วมือของคนใหญ่ๆ เรียงกัน เนื้อเก้ง กวาง หมูป่ากินกันจนเบื่อ เวลาไล่ควายไปเลี้ยงชายป่า ต้องรีบพากลับก่อนที่พระอาทิตย์จะเริ่มตก เพราะมัวชักช้าอยู่ เสือโคร่งอาจลอบมาตะปบควายไปกิน”
ในมุ้งนอนเมื่อครั้งยังเด็ก ก่อนนอน ผมมักรบเร้าให้พ่อเล่าเรื่อง ‘ป่าหลังเขา’ ให้ฟัง ชีวิตวัยเยาว์ของพ่อที่ปู่ ย่าพาไปอาศัย หากินกลางป่า น่าตื่นเต้นเมื่อจินตนาการตาม ทั้งที่จริง เวลานั้นเรื่องเล่าที่ส่งผมเข้านอน ดูคล้าย ‘นิยายปรัมปรา’ จนเมื่อได้เติบโตขึ้น ผมถึงได้รู้ว่า เรื่องที่พ่อเล่า เป็นเรื่องจริง
ป่าหลังเขาของพ่อ มีอยู่จริง แต่บ้านหลังเขา ในวันเวลานี้ ก็ไม่ต่างจากหมู่บ้านที่ถึงพร้อมด้วยสาธารณูปโภค น้ำใช้ ไฟฟ้า ถนนหนทาง และความเจริญที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ที่นั่น อาจมี ‘ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น’แล้วก็ได้ บ้านหลังเขาคือ ส่วนหนึ่งของอดีตป่ากาญจนบุรี มองผ่านร้านสะดวกซื้อที่ผุดตัวขึ้น ใครกันจะคิดว่า ย้อนกลับไปไม่ถึงสี่สิบปี เสือโคร่งเคยเดินผ่านแถวนี้
เช่นเดียวกันในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชน ล้วนเคยเป็นป่ามาก่อน ส่วนเรื่องราวของสัตว์ป่า ในบางโอกาสที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านตามท้องถิ่น ที่ผู้สนทนาด้วยมีอายุเลยวัยกลางคนไปสักหน่อย เรามักจะได้ฟังว่า “มันเคยมีอยู่”
“นกอย่างในรูปนี้ ป้าเคยเห็นนะ เมื่อก่อนมันจะบินกันเป็นฝูงบ้าง เป็นคู่บ้าง ผ่านหมู่บ้านไป ตัวใหญ่ๆ หัวสีเหลือง ร้องเสียงดัง แต่เดี๋ยวนี้ ไม่เคยเห็นมานานมากแล้ว”
ผู้หญิงวัยกลางคน ชาวบ้านชายป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี บอกกับผมเช่นนั้น เมื่อเธอเห็นแผ่นพับเรื่อง “นกเงือกไทย” ที่ผมนำมาแจกเด็กๆ นักเรียนที่เข้ามารับความรู้เรื่องนกและป่าสลักพระ
ป่าในเมืองไทย ผ่านวันเวลาแห่งการทำลายล้าง ที่เริ่มตั้งแต่การสัมปทานป่าไม้ ที่บริษัททำไม้เมื่อก่อนได้รับการสัมปทานจากรัฐบาล จนในปลายปี พ.ศ. 2531 ได้เกิดพายุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ภาคใต้ ซึ่งคร่าชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนไปมาก ทำให้รัฐบาลออกคำสั่ง ยุติการสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ แต่ถึงอย่างไรป่าไม้เมืองไทยยังคงลดลงเรื่อยๆ ทั้งด้วยการยึดครองเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นสนามกอล์ฟ รีสอร์ต บ้านพักหรูของคนบางกลุ่ม แม้จะมีการประกาศพื้นที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นป่าอนุรักษ์ไว้แล้วก็ตาม แต่ว่ากันตามเนื้อผ้า ป่าเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็เหลือเพียงพื้นที่ภูเขาสูงชันเท่านั้น ไม่ใช่ที่ราบ ที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งงานวิจัยทางด้านนี้ บอกเราแล้วว่า พื้นที่ที่สัตว์ป่าจะใช้ประโยชน์ นั้นต้องมีความลาดชันไม่มาก
เมื่อป่าไม้ ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าลดปริมาณลงเรื่อยๆ แน่นอนว่า สัตว์ป่าย่อมมีชะตากรรมไม่ต่างกัน แม้ในวันที่โลกก้าวไกล มีอาหารให้เราเลือกทาน ชนิดเลือกกินกันไม่หวาดไม่ไหว แต่เนื้อสัตว์ป่ายังเป็นเมนูที่ขายได้ ความเชื่อว่า “ชิ้นส่วนของสัตว์ป่า เป็นยาชูกำลังหรือบำรุงทางเพศ และเป็นส่วนประกอบของเครื่องยา เช่น น้ำมันที่เคี่ยวจากกระดูกของเลียงผา รักษาอาการหักของกระดูกได้” ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิด อย่างเช่น เสือโคร่ง ลิ่นหรือนิ่ม เลียงผา กวางผาฯลฯ มีอนาคตอันมืดมน
การลักลอบจับสัตว์ป่าเพื่อนำมาสนองความต้องการนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง กลายเป็นเรื่องปกติ ที่ลูกสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อย ต้องพรากจากอกแม่ ลูกค่าง ลูกชะนี อายุไม่ถึงเดือน ตัวเล็กดูหน้าตาน่ารักไม่ต่างจากตุ๊กตา แต่หากเรารู้ความจริงว่า ลูกสัตว์พวกนี้ แรกเกิดพวกมันจะเกาะอกแม่ของมันตลอดเวลา ไม่ว่าแม่ของมันจะทำอะไรหรือเคลื่อนย้ายไปไหน และยังไม่หย่านม แน่นอนว่า การนำลูกสัตว์มาจากป่ามีทางเดียว คือหยิบยื่นความตายให้กับแม่ของมัน รู้อย่างนี้แล้ว เรายังอยากเลี้ยงอยู่อีกหรือเปล่า? รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ อย่างลิงลม นกป่า ฯลฯ
พูดกันให้ชัดก็คือ เกิดเป็นสัตว์ป่าไม่มีชนิดใดที่ไม่เคยโดนจับมาขาย ไม่มี!
เช่นเดียวกับความเชื่อผิดๆ ที่ว่า สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสิ่งอัปมงคล นำมาซึ่งความโชคร้าย อย่างเช่นเชื่อว่า นกในกลุ่มนกเค้าแมวอย่างนกแสก เป็นนกผี ทั้งที่จริง นกเหล่านี้คือ ผู้ช่วยในการกำจัดหนู อันเป็นทั้งศัตรูของพืชผลทางการเกษตรและพาหะนำโรคร้ายมาสู่คน และอีกหลายคนที่เชื่อว่า นกแร้ง นกกินซากขนาดใหญ่ เป็นนกอัปมงคล ทั้งที่จริง พวกเขาคอยเป็นเทศบาลทำความสะอาด เพื่อไม่ให้ซากนั้น เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคที่สามารถกระจายเข้าสู่ในระบบธรรมชาติได้
“เมื่อก่อน ลุงยังเคยเห็นพญาแร้งที่หนังหัวแดงๆ และแร้งตัวสีเทาๆ ตัวโตกว่าพญาแร้ง เต็มท้องไร่ท้องนา รุมกินซากสุนัขบ้าง วัวควายบ้าง ไม่น่าเชื่อ ว่ามันจะสูญพันธุ์”
คุณลุงคนหนึ่ง หยุดพูดคุยกับผมที่ยืนประจำนิทรรศการของหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บนอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในช่วงงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ซึ่งบนอาคารนี้ แสดงผลงานวิจัยด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่สตัฟฟ์ไว้ดึงดูดคนที่เดินผ่านไปมาได้บ้าง หลายคนมักถามว่า มันยังมีในไทยอยู่ไหม? คำตอบคือ เราหลงเหลือแต่แร้งที่อพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ส่วนแร้งประจำถิ่นของไทยนั้น ไม่มีใครพบเห็นมานานแล้ว
นอกจาก ซากสัตว์ตายที่เป็นอาหารให้แร้งในธรรมชาติ จะหายากเพราะมีการจัดการด้านสาธารณสุขที่ดี ไม่มีใครนำซากสัตว์ตายมาทิ้งกลางท้องทุ่งอีกแล้ว ส่วนอีกสาเหตุของการหายไปของนกเทศบาลพวกนี้ ก็คือ ความเชื่อที่ว่า มันเป็นนกอัปมงคล ทำให้มันโดนฆ่าทิ้งจำนวนไม่น้อย
“ถ้าอยากเห็น มีซากหมาตาย ให้ลากไปไว้กลางทุ่งนา ไม่นานแร้งก็จะลงมากินกัน ช่วงมันกินอิ่มใหม่ๆ ยังบินไม่ขึ้น จะยืนอยู่รอบๆ ซาก เราก็เอาไม้ไปทุบมันเลย ทุบตีให้ตาย ทุบทิ้งเฉยๆ”
คุณลุงคนเดิม บอกกับผมเช่นนี้ ด้วยเมื่อก่อนไม่มีใครรับรู้ว่า ธรรมชาติทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน การไม่มีสัตว์สักชนิดในระบบ อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนเรา เช่นไม่มีนกแสก หนูที่นำพา “โรคฉี่หนู” มาสู่คนก็มีมากขึ้น
ถึงวันนี้ แม้หลายคนจะรับรู้แล้วว่า การคงอยู่ของสัตว์ป่า สำคัญต่อการคงอยู่ของเรา แต่ก็มีคนอีกจำนวนมาก ที่ยังคงความเชื่อที่ส่งผลให้ชีวิตสัตว์ป่าบางชนิด เดินทางสู่การสูญพันธุ์ พูดถึงสัตว์ป่าบางชนิดในวันนี้ ที่เรารู้จักอาจต้องเริ่มต้นด้วย คำว่า “กาลครั้งหนึ่ง”
ไม่แน่ อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า สัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ อาจหลงเหลืออยู่แค่เผ่าพันธุ์เดียว เผ่าพันธุ์ที่ผมเชื่อว่า คุณก็คงรู้คำตอบ
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3
ความเห็นที่ 4
ความเห็นที่ 5
ความเห็นที่ 6
สงสัยจะเหลือแค่ แมลงสาบ
ความเห็นที่ 7
กด like กระทู้ข้างบนครับ
ความเห็นที่ 8
อ่านแล้วสะเทือนใจ ถ้าเราช่วยกันมันต้องดีขึ้นค่ะ
ความเห็นที่ 9