ธรรมชาติ...จะมีไว้ทำอะไร?

ในขณะที่รถผมติดอยู่บนสี่แยกใหญ่แห่งหนึ่งในเขตจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดยาว รอบๆรถของผมเป็นรถหลากยี่ห้อต่างรูปแบบ แต่ที่น่าสังเกตคือส่วนใหญ่เป็นรถทะเบียน กรุงเทพมหานคร  เส้นทางนี้เป็นทางสายหลักเส้นเดียวที่จะมุ่งหน้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง ทั้งในเขตจังหวัด ราชบุรี และ กาญจนบุรี ผมเองก็กำลังมุ่งหน้าไป อ. สังขละบุรี เพื่อไปเยี่ยมเยือนธรรมชาติที่คิดถึง หลังจากไม่ได้ไปมานาน
 
นึกดูแล้วก็แปลก ทั้งๆที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างสะดวกสบาย แต่ถ้ามีเวลาว่างคนส่วนใหญ่เลือกที่จะหลีกลี้หนีออกจากเมือง ขับรถติดๆไกลๆเพื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำ ไปเดินเล่นชายทะเล และไปเที่ยวป่าปีนเขา แต่ถ้าไปไล่ถามว่าทำไมถึงอยากไป?  ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา?  มักจะไม่มีคนมีเหตุผลอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว นอกจากบอกว่า ชอบไป อยากไป ไปแล้วมีความสุข (มีปัญหาอะไรไหม?) หรืออะไรทำนองนั้น ผมเองถ้าต้องอยู่แต่ในเมืองก็จะทุรนทุราย โหยหาที่จะออกจากเมืองไปสู่ธรรมชาติโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยากไปทำไมหนักหนา โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันแพงอย่างนี้
 
แต่ว่างทีไรผมก็พบตัวเองอยู่ในป่า หรืออยู่ในน้ำที่ไหนสักแห่งเสียทุกครั้งไป โดยที่ผมก็ไม่เคยมีคำตอบให้ตัวเองว่าทำไมเมื่อได้มาอยู่กับธรรมชาติแล้วถึงรู้สึกมีความสุข จนกระทั่งได้อ่านหนังสือชื่อ The Diversity of Life ของ เอ็ดวาร์ด โอ. วิลสัน นักสัตวศาสตร์ และนักเขียน ๒ รางวัลพูริทเซอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
 
ในหนังสือเล่มนี้ วิลสัน เขียนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของโลก  เขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นยังรู้จักสิ่งมีชีวิตที่โลกใช้เวลาสั่งสมมาหลายล้านปีเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง นอกจากอาศัยต้นไม้ในการสร้างอากาศหายใจ แบคทีเรียคอยย่อยสลายของเสีย และประโยชน์ทางอ้อมอื่นที่เราได้รับจากธรรมชาติ(แต่มักจะมองข้ามไป)แล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใน ส่วนที่เรายังไม่ได้รู้จัก หรือรู้จักแล้วแต่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดนั้นยังมีประโยชน์ที่มนุษย์ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะนำมาใช้งานอีกมากมาย ในต้นไม้ต้นหนึ่ง อาจจะมีสารที่เป็นยารักษาโรคมะเร็งก็ได้ สัตว์ที่เรายังไม่ได้ทดลองเลี้ยงอย่างจริงจังอาจจะมีเนื้อที่มีคุณภาพดีกว่าเนื้อสัตว์ที่เรากินกันอยู่เป็นอาหารหลักก็ได้ เพราะจากพืชและสัตว์ที่มีอยู่บนโลกนั้นเรายังใช้ประโยชน์ทางตรงจากพวกมันไม่กี่ชนิดเท่านั้นเอง เอาง่ายๆคุณลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆเรากินอะไรกันบ้าง?  นึกเอาจากข้าวมือเย็นที่ผมเพิ่งกินไปก็จะมีเพียง ข้าว เนื้อวัว ไข่ไก่ ปาล์มน้ำมัน ปลากะตัก ถั่วเหลือง หอยนางรม แตงกวา พริกไทย กระเทียม และ ผักคะน้า (ทายถูกไหมว่าผมกินอะไรเป็นอาหารเย็น?) นับดูแล้วผมกินความหลากหลายทางชีวภาพไปแค่ ๑๑ ชนิดเท่านั้นเอง ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าในโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอยู่อย่างน้อยๆก็ ๒ ล้านชนิด
 
แต่นอกจากประโยชน์ทางตรงเหล่านั้นแล้ว วิลสัน ถามคำถามไว้ใน ๒ หน้าสุดท้ายของหนังสือความยาว ๔๐๐ กว่าหน้าเล่มนี้ว่า คุณเคยสงสัยไหมว่า “ทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่ถึงกลัว ความสูง น้ำไหลเชี่ยว งู หรือ แมงมุม มากกว่าสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นและอันตรายกว่าเป็นไหนๆอย่าง ปลั๊กไฟ ปืน กระจก และ รถยนต์ บางคนกลัวถึงขนาดแค่เห็นภาพหรือได้ยินชื่อก็กลัวแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ” “ทำไมคนอเมริกันซึ่งต้องเรียกว่าเป็นชาติที่บ้ากีฬา เลือกที่จะไปเที่ยวสวนสัตว์ และ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ มากกว่าการไปดูกีฬาทุกประเภทรวมกัน” “ทำไมมนุษย์ถึง ชอบที่จะอาศัยอยู่บนเนินเขาสูงที่มองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว และถ้าอยู่ใกล้น้ำด้วยก็ยิ่งดี” “ทำไมมนุษย์ถึงเลือกที่จะทิ้งบ้านเรือนที่มีข้าวของเครื่องใช้สะดวกสบาย เดินทางไกลๆเพื่อไปเดินทอดน่องบนชายหาด ไปดูป่าเขาลำเนาไพร ยอมลำบากกาย แต่กลับรู้สึกสบายใจ”
 
เขาบอกว่า ตลอดการวิวัฒนาการที่ผ่านมากว่า ๒ ล้านปีของเผ่าพันธุ์มนุษย์จนเกิดมาเป็นพวกเรานั้น มนุษย์อยู่คู่กับธรรมชาติมาโดยตลอด สัญชาตญาณที่สั่งสมมานั้น “สอนให้เรากลัว น้ำไหล แมงมุม และ สัตว์เลื้อยคลานว่าเป็นภัย (จึงมีคนที่กลัวสิ่งพวกนี้มากกว่าสิ่งที่อันตรายกว่าที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น)” “สอนให้เรา รู้จักที่จะศึกษาสัตว์และธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างมีความสุข (เราจึงชอบไปสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ)” “สอนให้เราเลือกที่อยู่ที่มองเห็นได้กว้างไกล เพื่อที่จะได้เห็นศัตรูและภัยธรรมชาติจากระยะไกล และอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อความสะดวก (เราจึงรู้สึกสบายใจที่ได้เห็นวิวกว้างๆและมีน้ำใกล้ๆ)” และคำตอบข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำไมมนุษย์ (รวมทั้งผมด้วย) ถึงชอบกลับไปอยู่กับธรรมชาติมากนัก วิลสันคิดว่า เพราะมนุษย์นั้นวิวัฒนาการอยู่คู่กับธรรมชาติเสมอมา เรามองป่ามองน้ำที่อุดมสมบูร์แล้วมีความรู้สึกสบายใจ เพราะนั่นคือแหล่งอาหาร ยาและแหล่งหลบภัย เราเคยอาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุข บุกฝ่าข้ามอุปสรรค์นานับประกาลจนประสพความสำเร็จในขยายเผ่าพันธุ์และสร้างอารยะธรรม แต่ในที่สุดแล้วมนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะละทิ้งรากเง้าของความเป็นมนุษย์ไปได้ สัญชาติญาณเหล่านี้จึงเกาะติดผูกพันกับเรามาจนถึงยุคสมัยนี้ที่มนุษย์หลายคนคิดว่าเราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีธรรมชาติ
 
ถ้าความเป็นมนุษย์คือ ดีเอ็นเอที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น มนุษย์ก็คงจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในอีกหลายๆชนิดที่มีอยู่บนโลก เหมือน ปลวก หรือ เห็ด ราเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างก็คือ “จิตวิญญาณ” ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสร้างสมมาจากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติมานับล้านปี วิลสันถามว่า “ถ้าเรายังทำลายธรรมชาติซึ่งเป็นรากเง้าที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์อยู่แบบนี้ แล้วในที่สุดเผ่าพันธุ์ของเราจะเหลืออะไร? เราจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร?  และถ้าไม่มีอดีตเพื่อนำทางแล้วเราจะมุ่งหน้าสู่อนาคตได้อย่างไร?” 
 
คุณมีคำตอบให้กับตัวเองไหม? 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

อ่านแล้วโคตระซึ้งเลย อยากไปโดนน้ำทะเลในทันใด ปีนหน้าผาหาเขาสูงสูดอากาศบริสุทธิ์จริงๆ
ไปหาหนังสือ The Diversity of Life ของ เอ็ดวาร์ด โอ. วิลสัน มาอ่านบ้างดีกว่า หุๆๆ  ^_____^

ความเห็นที่ 2

  ชอบจังค่ะ

ความเห็นที่ 3

ผมลองตอบคำถามที่  เขียนไว้ตอนต้นของบทความโดยที่ยังอ่านมาไม่ถึงท้ายๆ ว่า ทำไมคนจึงอยากเข้าไปในป่า  ลงน้ำ เดินริมหาดทราย  และคำตอบออกมาตรงกันคือ เป็นสัญชาติญาณมั้ง  เป็นคำตอบที่ถูกซะด้วย  ดีใจมากเลยที่ความรู้สึกของตนเองคือคำตอบที่ตรงกับในหนังสือ และหลายๆ คน
ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 4

อ่านแล้วได้ความรู้และแง่คิดหลายอย่างเลยครับพี่  แต่ผมว่าสมาชิกเราน่าจะผ่าเหล่าหลายคนชอบงู ชอบแมงมุม

ความเห็นที่ 5

ชอบบทความนี้จังเลยค่ะ มันเป็นความจริงอย่างยิ่ง คนกรุงหลายคนทำงานเก็บเงินจนแก่เฒ่าเพื่อหวังว่าบันปลายชีวิตจะซื้อบ้านหลังเล็กๆใกล้ๆธรรมชาติแต่กว่าจะถึงตอนนั้นคงเหลือเวลาสูดอากาศดีๆน้อยเต็มที อ่านแล้วจึงรู้สึกโชคดีที่ไม่ทิ้งสัญชาตญาณ

ความเห็นที่ 6

เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเราก็คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่วิวัฒนาการมาคู่กับธรรมชาติ  และเราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของมัน