กู้บทความเก่า: พรุโต๊ะแดงและป่าบาลา โดย นณณ์, มกราคม 2546

โอ่โอปักษ์ใต้บ้านเรา มีน้ำภูเขาทะเลกวางไกล
เรื่อง/ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์
เรียงความเรื่องพรุโต๊ะแดงโดย: เด็กชาย ภวพล

2,855.4 เลขบนหน้าปัดมิเตอร์ระยะทางที่ผมตั้งไว้ที่ 0 ก่อนออกจากบ้าน หมุนตัวเองรอบแล้วรอบเล่าจนในที่สุดก็มาหยุดสนิทในคืนวันขึ้นปีใหม่ที่บ้านผมอีกครั้ง “2,855.4 กิโลเมตร” ผมมองตัวเลขด้วยความทึ่งกับความบ้าของมนุษย์คนหนึ่งที่พาตัวเอง และครอบครัวขับรถล่องใต้สู่แหลมมลายูจุดหมาย เพื่อจะไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ที่จังหวัดสงขลา,ปัตตานี และ เยี่ยมเยียนดินแดนในฝันของตนเอง พรุโต๊ะแดง และ ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาศ ชื่อนี่เหมือนความฝันที่หลอกหลอนผมมานานหลายปีแล้ว เมื่อท่านพ่อ และแม่เอ่ยปากชวนผมล่องใต้ในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ผมจึงตอบรับได้อย่างไม่ต้องคิดแม้ แต่วินาทีเดียว “ไปครับไป”

การเดินทางครั้งนี่เริ่มต้นเมื่อเที่ยงคืนของวันศุกร์ เราขับล่องใต้ไปเรื่อยๆ ฝ่าความมืด และม่านฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ (ปีใหม่ทำไมฝนยังตกอีกอ่ะ?) พอฟ้าเริ่มสางก็ถึง จังหวัด สุราษฎ์ธานี แวะกินข้าวที่ตลาดสดยามเช้า ซึ่งถือเป็นแหล่งโปรดของผม ไปที่ไหนจะต้องไปเยี่ยมเยียนตลาดให้ได้ ผมเชื่อว่าตลาดเช้าเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญมากๆ อีกแห่ง ผมชอบไปดูว่าชาวบ้าน แต่งตัวกันยังไง พูดภาษาอะไร กินอะไรกัน และข้อสำคัญ คือมีปลาน้ำจืดอะไรขายบ้าง สุราษฯ เป็นเมืองติดทะเล วันนี้ผมเลยหาแผงขายปลาน้ำจืดท้องถิ่นยากสักหน่อยทั้งๆ ที่ตลาดก็อยู่ติดแม่น้ำตาปี เดินไปเจอก็เป็นปลาพาคู กะปลาทับทิม ซึ่งทั้งสองเป็นปลาน้ำจืดต่างถิ่น จนในที่สุดก็มาเจอแผงขายปลาแม่น้ำเล็กๆ มีปลาพรม ปลากาดำ ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห และ ปลาดุกบิ๊กอุย  หลายตัวนอนแอ้งแม่งอยู่ในถาด จัดแจงถ่ายรูปเรียบร้อยก็เผ่นขึ้นรถ
จุดหมายแรกของเราอยู่ที่ จังหวัด นครศรีธรรมราช ซึ่งเราก็มาถึงตอนประมาณ 10 โมงกว่าๆ เก็บข้าวเก็บของเรียบร้อย นั่งพักสักแป๊ป ผมก็คว้าสวิงเดินท่อมๆ ออกไปหน้าโรงแรม ตอนที่ขับมาผมเห็นลำคลองเล็กๆ หลายสายไม่ไกลจากโรงแรมมากนัก น่าสนใจดีเหมือนกัน  ออกเดินย้ำต๊อกจากหน้าโรงแรมผ่านห้างค้าปลีกตราดอกบัว และร้านค้าโชว์ห่วยเล็กๆ มาได้ 3   ช้วงตึกแถวผมก็ถึงหมายแรกซึ่งเป็นลำธารเล็กๆ น้ำตื้นๆ มีขยะพอประมาณ ดูไม่ค่อยหน้าเชื่อถือนัก ซรวบแรกกับปลาจับปลาในทริปนี่ของผม ได้ขึ้นมาเป็นปลาซิวหนวดยาวฝูงใหญ่ กะปลาเข็มอีกหน่อย ซรวบที่ 2, 3, 4, และ 5 ก็ยังเป็นปลาชนิดเดิม ผมล้มเลิกความตั้งใจแล้วเดินกลับโรงแรม นี่ก็ใกล้เวลานัดไปกินอาหารเที่ยงแล้ว หลังอาหารเที่ยงวันนั้นเราไปสักการะพระธาตุที่วัดพระศรีมหาธาตุ แวะชอปปิ้งสินค้าพื้นเมืองที่ถนนด้านหลัง ผมได้ของถูกใจ คือไม้แกะสลักเป็นพยูนหนึ่งครอบครัว พ่อแม่ลูก หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จากจังหวัดตรัง และที่ถูกใจมาก คือ ได้หมามาอีก 2 อัน รู้จักหมารึเปล่าครับ?  เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีกอย่าง ทำจากกาบปาล์มหลายชนิดเอาไว้ตักน้ำ ทำจากใบจากก็เรียกหมาจาก ทำจากต้อหมาก(กาบหมาก) ก็เรียกหมาต้อ ทำจากกาบเหลาชะโอนก็เรียกว่า หมาต้อหลาวโอน ขันพลาสติกชาวบ้านนครฯ ยังเรียกหมาพลาสติกเลย ชื่อแปลกดี ผมอยากเห็นของจริงก็ได้มาเห็นในวันนี้นี่เอง

จบงานชอปปิ้งเราก็มุ่งหน้าสู่พระตำหนักเมืองนคร เยี่ยมชมพระตำหนัก, ต้นไม้พื้นเมือง, และสวนสวยๆ จากนั้นก็แวะไปเที่ยววัดถ้ำเขาขุนพนมซึ่งชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่าพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จลงเรือหนีมาผนวช และประทับอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้จนสวรรคต บนถ้ำผมได้พบกับจิ้งจกตัวเล็กๆ ตัวนึง เจอหน้าผมจิ้งจกก็มุดหนีเข้าไปในซอกหิน จะตามก็คงเป็นไปไม่ได้ผมเลยนั่งรออยู่ตรงนั้น ทำจิตใจให้สงบแผ่เมตตา บ่นในใจว่า ออกมาเหอะจิ้งจก เรามาดีขอถ่ายรูปหน่อยนะ บ่นได้สักพักจิ้งจกก็กลับออกมาให้ผมถ่ายรูปจริงๆ :D จิ้งจกตัวนี่หลังจากเอารูปมาให้พี่น๊อต(ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน)ดูก็ได้รับข้อมูลมาดังนี่ครับ

“จิ้งจกนิ้วยาว (Cnemasphis sp.) แต่ยังไม่กล้าฟันธงครับ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นจิ้งจกนิ้วยาวกำพล (C. kampoli)ไม่แน่ใจจริงๆ กลุ่มนี้มีโอกาสพบ new species พอสมควร เคยเจอจากที่ป่าตะวันตก แต่ผมไม่มีตัวอย่าง อ้อ..ถ้าเป็นตัวที่ผมเดาจริงๆ ถือว่าโชคดีมาก เพราะหายากมาก (อาจเป็น เพราะตัวเล็ก และไม่ค่อยมีใครสนใจนักด้วย) เมื่อ 2 เดือนก่อน ก็มีฝรั่งได้ไป 2ตัว ( เพื่อนบอกมาอีกที ที่นครฯนี่แหละ) หลังจากไม่มีรายงาน(ที่ยืนยันได้)มานานหลายสิบปี” 

หัดถ่ายจิ้งจกครั้งแรกก็ได้ตัวเด็ดเลย อะไรจะโชคดีปานนั้นกระผม

ลงมาจากเขาฟ้าก็เริ่มมืดฝนก็เริ่มพล่ำๆ   แหล่งที่เราจะไปต่อเป็นตาของผมเลือก (มาเที่ยวกันหลายคนก็ต้องแบ่งๆ กันเลือกอ่ะนะ) ซึ่งผมก็เลือกที่จะไปน้ำตกพรหมโลก (สำหรับน้ำตกคูชิงแห่งเขาหลวง ที่อยู่บนธนบัตร 1000 บาทรุ่นแรกนั่นต้องเดินจากที่จอดรถค่อนข้างไกล ที่บ้านจึงไม่อนุมัติ ฝากไว้ก่อนนะ) ออกสู่ถนนใหญ่ผมก็เลี้ยวขวาฉับ ตะบึ่งไม่คิดชีวิต เพราะกลัวจะมืดซ่ะก่อนมารู้ตัวว่าเลี้ยวผิดทางก็ 30 กว่ากิโลเข้าไปแล้ว ขับย้อนกลับมาอีกฝนก็ตก ไปถึงน้ำตก หน่วยก็ปิดพอดีไม่ให้ขึ้นไปแล้ว ผมเลยได้ แต่ยืนมองน้ำตาตกเคล้าน้ำฝน และถ่ายรูปจากป้อมเจ้าหน้าที่ จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะมาแหล่งน้ำไหลแถวนี้ก็ เพราะอยากเห็นที่อยู่ของเจ้าปลากัดอมไข่แก้มเขียว (Betta pugnax) ที่มีรายงานพบจากแถวนี้ วันนี้เที่ยวนี่โชคไม่ดี เพราะน้ำยังเยอะอยู่ และเข้าน้ำตกไม่ได้แล้วด้วย เลยจำต้องฝากไว้อีกที่ อย่างไรก็ดีจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ทำให้ผมมั่นใจว่าที่นี่ในหน้าน้ำน้อยๆ ในส่วนล่างของน้ำตกต้องมีปลากัดแน่ๆ ลุงบอกว่าสมัยเด็กๆ นั่น “ลุย” แต่เดี๋ยวนี่มีน้อยแล้ว ฟังคุณแม่แหลงใต้มาตั้ง แต่เด็กมีประโยชน์ก็วันนี้ ไม่เช่นนั้นผมคงลุยป่าไปน้ำตกแล้ว นึกว่าลุงสั่งลุย (ลุยภาษาใต้แปลว่าเยอะ)

อาหารมื้อเย็นวันนี้เป็นอาหารปักษ์ใต้บ้านเราล้วนๆ ไอ้กระผม และพี่น้องนั่นเป็นลูกครึ่ง (ใต้กะจีน) เลยกินอาหารปักษ์ใต้เป็นหมด แกงส้มหน่อไม้ดอง บูดู แกงไตปลา ปลากระบอกทอดขมิ่น ข้าวยำ หรือ ผัดเผ็ดสะตอ คุณแม่สั่ง คุณลูกกินไม่เหลือหลอ  คืนนั้นผมรีบกลับโรงแรมแล้วเข้านอน แต่หัวค่ำ เพราะเหนื่อยจากการเดินทาง และผมได้แอบวางแผนบางอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว...

ตี 5 โทรศัทพ์มือถือก็ร้องปลุก ผมงัวเงียตื่นขึ้นมา มองไปนอกหน้าต่างยังมืดอยู่เลย ฝนตกอีกตะหาก ตี 5 ครึ่ง ผมลืมตาอีกครั้ง ยังเหมือนเดิม มืดฝนตก 6 โมงเช้าฟ้าเริ่มสาง แต่ฝนยังตก ไม่มีทางเลือกแล้ว อยู่ใต้ฟ้าจะมากลัวฝนด้วยเหตุอันใดเล่า ผมแปรงฟัน แต่งตัวแล้วก็ไปที่รถ ผมแอบเล็งลำธารแห่งนึงแถวน้ำตกพรหมโลกไว้แล้ว คำนวนดูใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงน่าจะถึง ครอบครัวบอกว่าจะไปกันตอน 8 โมงเช้าผมยังมีเวลาไปจับปลาสักชั่วโมง
แว่บๆ ๆ ๆ ๆ ตัดภาพมาที่ลำธารแห่งนั้น เพราะผมซิ่งมาก น้ำสีน้ำตาลขุ่นๆ ไหลเชี่ยวพอสมควร ฝนยังตกปรอยปราย ผมเล็งตลิ่งริมฝั่งที่พอจะมีหญ้าขึ้นอยู่หร่อมแหร่มแล้วไล่ช้อนไปเรื่อย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมกลัวไว้.....มี แต่น้ำเหลว ไม่มีปลากัดอมไข่แก้มเขียวที่ผมตามหา น้ำยังแรงเกินไป ตามข้อมูลที่ผมได้รับมา ปลากัดอมไข่ที่อยู่ตามลำธารในจังหวัดจันทบุรีมีการอพยพเล็กๆ เหมือนกัน เพราะหมายที่ผมไปสำรวจพบปลามากมายในหน้าแล้งกลับไร้ซึ่งปลาในหน้าฝน ปลากัดแถวนี่ก็คงเหมือนกัน หน้าน้ำมีที่ให้ไปเยอะแยะก็เลยใจแตกหนีไปเที่ยวกันไกลๆ ครึ่งชั่วโมงผ่านไป ผมยอมแพ้ ขามาผมผ่านตลาดสดริมถนนแห่งหนึ่งดูน่าสนใจ ไปชมตลาดดีกว่า แว่บๆ ว่าเห็นกล้วยเล็บมือนางของโปรดวางอยู่หลายเครือเหมือนกัน

วันนี้เราแวะไปเที่ยวแหลมตะลุมพุก เพื่อให้ อินเทรน กับหนังที่เพิ่งเข้าโรง แวะเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่หาดทรายแก้ว แวะไปกินอาหารทะเลสดๆ ที่เกาะยอ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่มีสวนผลไม้มากมายอยู่ในทะเลสาปสงขลา เกาะนี่น้าผมเล่าให้ฟังว่าเป็นเกาะแปลก เพราะสวนผลไม้เยอะแยะ แต่ไม่มีกระรอกสักตัว ขนาดเอามาปล่อยยังตาย อาหารเด็ดวันนี่ คือเส็ดปลาพงทอดขมิ้น (เส็ด = สัน)  กระพงขาวเลี้ยงกระชังในทะเลสาปสงขลา อร่อย และไม่เหม็นโคลนเหมือนปลาเลี้ยงบางที่ ผมยังได้กินลูกสวาแสนหวานของเกาะยอด้วย (ลูกสวา ภาษาภาคกลาง คือละมุดนั่นเอง) กินอิ่มก็เคลือนขบวนล่องใต้ไปที่ตัวเมืองจังหวัดสงขลา เพื่อไปแวะร้าน เลิศ เบเกอรี่ ของเด็ดของที่นี่ คือ ขนมไข่ที่ ข้างนอกกรอบ ข้างในชุ่มช่ำไปด้วยเนยเค็มนิดๆ ผมกินขนมไข่ร้านนี่มาเป็นสิบปี เพราะญาติคนไหนไปมาก็จะรู้ว่าชอบ และซื้อมาฝาก แต่ไม่เคยมาที่ร้านนี่สักครั้ง วันนี้ได้มายืนรอกินจากเตา ขนมไข่อุ่นๆ จากเตา อร่อยจนหยุดไม่อยู่เลยครับ  กินขนมไข่ไปขับรถไป ผมก็มาถึงแหลมสมิหลา ชายหาดที่ผมมาเล่นตั้ง แต่เด็กๆ ถึงแม้จะไม่เหลือเค้าของชายหาดเงียบสงบกับดงสนที่ผมจำได้แล้ว แต่นางเงือกทองที่ผมคิดถึงก็ยังนั่งอยู่บนหินโขดเดิม เกาะหนูเกาะแมวก็ยังอยู่ที่เดิม หลังจากถ่ายรูปจนหายคิดถึงแล้ว เราก็ออกเดินทางสู่ปัตตานี เพื่อไปเยี่ยมน้าที่เลี้ยงผมมาตั้ง แต่เด็ก วันนั้นผมหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน และชื่นมื่น พบหน้าญาติผู้ใหญ่ที่อยากพบหมดแล้ว พรุ่งนี่แหละจะได้ลุยดินแดนในฝันซ่ะที

จบตอนที่ 1
 
ก่อนจะถึงพรุโต๊ะแดงเรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่าทำไมผมถึงอยากมาที่นี่หนักหนา ป่าแห่งนี่มีอะไรพิเศษ งานนี้ผมวานเด็กชายภวพล(โอม) ให้ลองคัดย่อสรุปบทความมาจากเว็บต่างๆ อ่านดูแล้วผมให้ 9/10 เลยครับ

ป่าพรุ
โดย เด็กชาย ภวพล

ป่าพรุเกิดขึ้นได้ทั้งตามหุบเขาสูง และชายฝั่งทะเล ในประเทศไทยพบป่าพรุได้ในแถบจังหวัดภาค ใต้ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  พัทลุง สงขลา และนราธิวาส  แต่ป่าพรุที่สมบูรณ์ และเหลืออยู่เป็นผืนสุดท้าย คือ ป่าพรุโต๊ะแดง  อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง  อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 125,625 ไร่

ป่าพรุโต๊ะเเดง (พรุสิรินธร) เป็นป่าพรุดั้งเดิมผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ล้อมรอบด้วยป่าเสม็ด และพรุหญ้า ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534

พรุโต๊ะแดง อุดมไปด้วยสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ มีพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างน้อย 50 ชนิด เช่น ช้างไห้ กาบอ้อย พญาไม้ ปาหนันช้าง เต่าร้าง หมากงาช้าง เป็นต้น บริเวณนี้ พบนก 217 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 52ชนิด และปลากว่า 80 ชนิด ซึ่งบางชนิดเป็นชนิดพันธุ์หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย เช่น เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกตะกรุม นกเปล้าใหญ่ ปลากัดช้าง ปลากระแมะ นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากอย่างแมวป่าหัวแบนอาศัยอยู่ด้วย

ถ้าจะจำแนกประเภทของป่าพรุ จะจัดได้ว่าป่าพรุเป็นป่าในเขตร้อนประเภทไม่ผลัดใบเช่นเดียวกับป่าดงดิบชื้นแต่สภาพป่านั้นแตกต่างจากป่าประเภทอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ป่าพรุเกิดในภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแอ่งกระทะที่มีสภาพเป็นแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันเป็นเวลานาน มีการสะสมอย่างถาวรของซากพืชหรืออินทรีย์วัตถุที่ไม่ย่อยสลาย แช่อยู่ในน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นสีชา มีรสเผื่อนเนื่องจากกรดของอินทรีย์ และอิทธิพลของดินอินทรีย์ชั้นล่างแทรกซึมขึ้นมาสู่ชั้นบน ทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรด (pH 4-6) การไหลของน้ำจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และในฤดูฝนน้ำจะเอ่อล้นไหลลงสู่ทะเล หรือแม่น้ำใกล้เคียงโดยที่ชั้นอินทรียวัตถุไม่ได้รับความกระทบกระเทือน

ป่าพรุจัดเป็นสังคมพืชประเภทป่าดิบชื้นที่มีพืชพรรณกลุ่มเด่น ๆ หลายกลุ่มแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ความหนาของชั้นอินทรียวัตถุ และระดับน้ำในพรุ พืชพรรณต่าง ๆ ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจึงมีเรือนรากเสริมที่ต่างไปจากพืชในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ลำต้นมีพูพอนเป็นแผ่นช่วยค้ำยัน บางต้นจะมีรากยื่นออกมาจากข้างลำต้นทอดยาวลงสู่ดิน เพื่อพยุงลำต้นที่เรียกว่ารากค้ำยัน และบางต้นมีรากหายใจโผล่เหนือชั้นดินที่มีน้ำหล่ออยู่ตลอดเวลา หรือบางต้นมีลักษณะเหล่านี้ปะปนกัน
 
โครงสร้างป่าพรุประกอบด้วยไม้ยืนต้นหลายชนิด และมีชั้นเรือนยอด 3 ชั้น คือ

1.  ไม้ยืนต้นชั้นบน เป็นชั้นที่ไม่มีความสูง 24-37 เมตร มีขนาดตั้ง แต่กลางจนถึงใหญ่ มีเรือนยอดชิดกันต่อเนื่อง ไม้ที่พบทั่วไป ได้แก่ จันทร์ป่า ตังหนใบเล็ก  ฯลฯ
2.  ไม้ยืนต้นชั้นรองลงมาเป็นชั้นที่ไม้มีความสูง 23 เมตรลงไป มีขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง เรือนยอดชิดกันเป็นกลุ่ม ๆ แต่ส่วนใหญ่เรือนยอดมักจะขาดตอน ไม้ที่พบทั่วไปได้แก่ จันทร์ป่า ปาหนันช้าง ฯลฯ
3. พืชชั้นล่างสุดเป็นชั้นพืชพื้นล่าง เช่น รัศมีเงิน หมากแดง หลุมพี หวาย สะเดา กะพ้อแดง หมากงาช้าง หวาวชะโอน หมากลิง เตย บอน เฟิร์น เป็นต้น

อ้างอิง
http://www.forest.go.th/ForestFire/56/pu.htm
http://www.deqp.go.th/data_env/south/download/forest.doc
 
สู่ดินแดนในฝัน พรุโต๊ะแดง

วันนั้นผมตื่น แต่เช้า รีบกินข้าวเช้าแบบบุฟเฟ่ของโรงแรมที่มีอาหารอิสลามอร่อยๆ ด้วยหลายอย่าง พ่อแม่พี่น้า จะไป อ. เบตง จ.ยะลา ใต้สุดแดนสยามกัน ส่วนผมนั่นจะแยกตัวไป อ. สุไหงโก-ลก และ อ. แว้ง จ.นราธิวาส เพื่อไปเยี่ยมเยียนดินแดนในฝันของผม...

พรุโต๊ะแดง พรุโต๊ะแดง พรุโต๊ะแดง ผมขับไปหลงไป ถามทางไปตลอด ภาษาใต้สำเนียงแปล่งๆ พอจะสื่อความหมายกับชาวบ้านเข้าใจ จนกระทั่งเห็นป้ายเข้า “พรุสิรินธร” แล้วก็ยังหลง ทำไมมันถึงยากอย่างนี้ว๊าาาาา เอาเหอะ ในที่สุดผมก็เลี้ยวถูกทาง จากบ้านเรือนสองข้างทางค่อยๆ เปลี่ยนเป็นป่าพรุป้ายที่เขียนว่า “พรุโต๊ะแดง” แทบจะ ทำให้ผมกระโดดไปกอด ผมขับเข้าไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นน้ำสีชาเจิงนองทั้งสองฝากถนน ทนไม่ได้แล้วเฟ้ยยยยยย ผมจอดรถคว้าสวิง ลงไปไล่ช้อนดูที่กอหญ้าริมน้ำ ปลากริมควาย ปลากริมควาย และ ปลากริมควาย "ฮ้วย! เหมือนเมล่ออั่น"  จะช้อนปลากริมฟาย ไม่ต้องมาถึงโต๊ะแดงก็ได้ ผมขึ้นรถไปต่อ...ไปจนถึงที่ทำการก็ลงไปตามหา “ปลากัดช้าง  พี่ครับ ชีวิตนี้ผมอยากเห็นปลากัดช้างในธรรมชาติสักครั้ง พอจะบอกได้ไม๊ครับว่ามันอยู่ที่ไหนกัน?”  “มันก็อยู่ของมันทั่วไปแหละน้อง หน้านี่น้ำเยอะด้วยสิ ลองไปเดินดูตามทางเดินศึกษาธรรมชาตินะ คอยมองๆ ไปอาจจะเจอก็ได้”  “ครับๆ ”   

ผมยังไม่อยากเดินบนสะพาน ผมยังอยากเปียกน้ำ เลยอำลาพี่ๆ ออกมา มุ่งหน้าสู่คลองโต๊ะแดง ผมเห็นภาพคลองแห่งนี้ครั้งแรกจากหนังสือญี่ปุ่น ให้นึกแค้นใจเป็นหนักหนาว่าอยู่ในประเทศเราแท้ๆ แต่ดันต้องมาดูภาพจากหนังสือญี่ปุ่น วันนี้แหละจะได้มาตัวเปียกที่นี่แล้ว ผมตื่นเต้นมากๆ เลยบอกให้ “วู้วววววว”  ในที่สุดผมก็มาถึงคลองโต๊ะแดง ผมถ่ายรูปทางซ้ายทีขวาที วันนี้ท้องฟ้ามีเมฆสีขาวทึบๆ ไม่ใช่ลักษณะของท้องฟ้าที่สวยที่สุดในการถ่ายภาพ แต่นี่ คือภาพที่สวยที่สุดสำหรับผม ที่ฝากนึงของคลอง คือป่าพรุทึบๆ มีช่องเล็กๆ ที่น้ำไหลออกมา มีลอบตาถี่ๆ สีฟ้าอยู่ 2 อัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา น้ำเยอะพรรค์นี้ให้เอาสวิงอันน้อยนิดของผมไปไล่จับปลาคงได้ แต่น้ำเหลวอีก แต่ลอบชาวบ้านมักจะเต็มไปด้วยปลา ขอดูหน่อยแล้วกันนะครับ

ในลอบอันแรกมีตัวอะไรยาวๆ สักเมตรกว่าๆ ปล้องสีเหลืองสลับดำดิ้นขลุกขลักอยู่ งูสามเหลี่ยมนี่หว่า ตัวเบ่อเริ่มเลยผมมองไปรอบๆ คู่ของมันคงไม่อยู่แถวนี่นะ กัดตายแหง่มๆ   แต่มาถึงตรงนี่แล้ว ผมลุยน้ำลงไปแค่เข่ายกลอบขึ้นมาดู ปลาเล็กปลาน้อยดิ้นกันคลุกคลักไปหมด ปลาเสือ 6 แถบ, ปลาซิวผอมแถบดำ, ปลาช่อนเข็ม, ปลากระดี่มุก และ อีกสารพัดปลา โอ้ว ว้าววววววว ผมแถบจะลงไปนอนดิ้นเด่วๆ ที่ริมตลิ่ง มันเป็นความสุขของคนบ้าที่ได้เห็นปลาพวกนี่ ถึงแม้จะไม่ใช่ในที่ๆ ควรจะอยู่นัก แต่ก็ไม่ใช่ในตู้ขายปลาที่แสนจะแออัดในกรุงเทพฯ แค่ได้เห็นก็เป็นสุขแล้ว แต่ความสุขก็ยังมีอุปสรรค เพราะงูสามเหลี่ยมยังดิ้นคลุกคลักอยู่ในลอบ ผมวางอันแรกลง ลุยน้ำลงไปแค่เอวไปที่ลอบอันที่สอง ฝูงปลาเสือ  6 แถบว่ายเลาะริมป่า ปลาซิวขนาดใหญ่ 2 ตัวว่ายผ่านหน้าผมไป ผมดูไม่ทัน แต่ปลาซิวก็ยังว่ายอยู่ไม่ไกลนัก ผมเดินตามออกไปจนเกือบถึงกลางคลอง น้ำถึงสะดือแล้วเนี๊ย เป็นความสะใจอีกครั้ง ไหนๆ ก็ไหนๆ ถุงพลาสติก หนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดตัว เสื้อกางเกงก็เตรียมมาแล้ว เล่นน้ำซ่ะเลยแล้วกัน  เป็นความสุขของคนบ้า.... น้ำสีชาดำเย็นไหลเข้าปากผมลองชิมดู ฝาดๆ หวานๆ นี่ถ้ามีถังใบใหญ่ๆ คงจะหอบหิ้วกลับไปฝากเจ้าปลากัดช้าง และ เพื่อนฝูงป่าพรุที่บ้านแล้วมันคงคิดถึงน้ำแบบนี่น่าดูเลย คราวหน้านะปลานะ

“เอ๊ะ อะไรพลิ้วๆ ยาวๆ อยู่ในน้ำ?”  สัตว์หน้าตาประหลาดกำลังมุ่งหน้ามาทางที่ผมกำลังยืนอยู่ ตัวอะไรไม่รู้ แต่หน้าตาท่าทางไม่น่าไว้วางใจนัก ผมค่อยเขยิบหนีไปจนถึงฝั่ง คว้าสวิงได้ก็จ้วงเข้าไป เอามาดูสิว่าตัวอะไร “อี๋ ปลิงควายแน่ๆ ” ผมนึกในใจ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในพรุก็มีปลิง เด็กกรุงฯอย่างผม ขอยอมรับว่าเกิดมาเพิ่งเคยเห็นปลิง โชคดีนะที่ผมไม่ใช่ควาย และเจ้านี่มีไม่มากนัก นึกถึงตอนโดนทากตัวกระจิ๊ดเดียวกัด ถ้าเป็นไอ้นี่ตัวเป็นคืบกัดคงแห้งตายแน่ๆ ผมจัดการถ่ายรูปเจ้าปลิงแล้วก็โยนมันออกไปกลางแม่น้ำให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ ไปที่ชอบที่ชอบเลยอย่ามายุ่งกะอั๊ว จัดการกะเจ้าปลิงแล้วผมก็ไปดูที่ลอบอันที่ 2 ซึ่งก็มีปลาลุ่ยไปซ่ะแหมด ผมค่อยๆ ช้อนออกมาทีละฝูงสองฝูง ถ่ายรูปแล้วก็เอาปลาใส่คืนลอบ สวรรค์เลยผม ให้ไปไล่ช้อนเองชาตินี้ก็ไม่มีวันจับปลาพวกนี้ได้ ปลาพวกนี่คงมีใครสักคนทำการรวบรวม เพื่อไปส่งเป็นปลาสวยงามเหมือนพวกที่ผมเห็นที่กรุงเทพฯ ถึงแม้จะเป็นปลาที่มีอยู่อย่างชุกชุมในป่าพรุโต๊ะแดงแห่งนี่ แต่ปลาพวกนี่ก็เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถพบได้ที่ไหนอีกแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมที่ดีพอสมควร แต่ผมก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ ป่าพรุที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ใครๆ ก็หวงจริงไม๊ครับ? 

“อ้าวน้อง มาเล่นอยู่แถวนี่เอง” พี่เจ้าหน้าตะโกนทักผมจากบนสะพาน “นี่ลอบใครครับพี่เนี๊ย?” “อ้อของชาวบ้านแถวนี่แหละ เค้ารวบรวมขายเป็นปลาสวยงามหน่ะ  บางทีก็เอาไปขายเป็นปลาเหยื่อในตลาด”  “ปลาเหยื่อให้อะไรกินครับ?” “ก็พวกปลาหล่อฮั่นแหละ”  “......................”  ผมอึ้ง “อ้าวแล้วนี่มันเขตอนุรักษ์ไม่ใช่เหรอครับ ทำไมอนุญาตให้จับปลา” “ก็...มีพวกลักลอบก็มี แล้วก็ลุงนี่แกจับมานานแล้วพี่เลยไม่ยุ่งกับแก แกก็จับอยู่รอบนอกนะ แกไม่มาจับในเขตอนุรักษ์”  “อา...ครับ.........” 
แอบยกลอบสองอันก็ได้เห็นปลาตั้งเยอะแยะแล้ว ยังขาดอีกอย่างที่ผมอยากเห็นที่พรุโต๊ะแดง เจ้าต้นคริปใต้ใบแดงหรือ(Cryptocoryne cordata)  อยากเห็นเองก็ส่วนหนึ่งหล่ะ แต่งานนี่เจ้ากิ๊กย้ำนักย้ำหนาว่า อยากได้เองก็อยาก แล้วก็จะเอาไปให้หอเก็บพรรณไม้ที่จุฬาฯ และเกษตรด้วย

ผมกลับมาที่รถขับต่อไปเรื่อยๆ เล็งหาหมายที่คิดว่าน่าจะมีคริป ต้องเป็นลำธารเล็กๆ น้ำไหลนิดๆ ผมเดาเอานะ ข้างหน้า ป้าคนนึงกำลังก้มๆ เงยๆ ช้อนอะไรอยู่ ผมจอดรถ “สวัสดีครับป้า ช้อนอะไรครับ?” “อ้อ ก็พวกปลาเล็กๆ เนี๊ยแหละ”  “เอาไปขายเหรอครับ?”“จ๊ะๆ ก็เอาไปส่งให้พวกที่รับไปขายเป็นปลาสวยงาม เหลือก็เอาไปขายตลาดเป็นปลาเหยื่อ”  “.............”  “แล้วนี่มาจากไหนละนี่?”  “มาจากกรุงเทพฯครับป้า มาเที่ยวหาดูปลา เออ ป้ารู้จักต้นบัวที่ใต้ใบมันแดงๆ รึเปล่าครับ?” พูดพลางผมก็ทำมือเป็นรูปเหมือนใบคริป ผมไม่รู้ชื่อท้องถิ่นเลยมั่วๆ ไปก่อนว่าเป็นบัว “เออ มันก็มีอยู่นะ แต่ไม่ใช่บัวนะแถวนี่เค้าเรียกต้นกระชวก”   “โอ้ พาไปดูหน่อยสิครับ”  “เอ้าๆ มาสิ”

แล้วป้าก็วางสวิง และถังเดินนำผมเข้าไปตามทางเดินแคบๆ   ลำธารในป่าพรุไม่มีหลักเกณฑ์ ตัดกันไปตัดกันมา นึกจะไหลไปทางไหนก็ไหล นึกจะเป็นแอ่งลึกๆ ก็เป็น การเดินจึงต้องข้ามสะพานเล็กๆ ผ่านลำธารไปตามคันดินเรื่อยๆ บางจุดก็มีลอบชาวบ้านอยู่ ผมยกดูไปเรื่อยเจอปลาใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ถ่ายรูปก็จำไว้ เดี๋ยวขากลับค่อยมาจับถ่ายรูป มีอยู่อันมีงูงวงช้างติดอยู่ตัวเห็นแล้วก็น่าสงสาร แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ป้าพาผมผ่านลำธารเล็กๆ มีสันตวาใบใหญ่ (Ottelia aff. alistemoides) ขึ้นอยู่ด้วย ผมเห็นตอนแรกนึกว่าเป็นพวกอเมซอน(ไม้น้ำตระกูล Echinodorus ถิ่นกำเนิดจากแถบอเมริกาใต้) ยังนึกด่ามาใครมาอุตริปลูกไว้ พอดูดอกใกล้ๆ กลับมาปรึกษาเจ้ากิ๊กถึงเริ่มมั่นใจว่ามัน คือสันตวาจริงๆ ผมนั่นมัว แต่ก้มๆ เงยๆ ดูปลาเล็กๆ อยู่ในลอบเล็กๆ มองไปอีกทีเห็นป้ากำลังแสดงกำลังภายในเดินบนผิวน้ำข้ามลำธารกว้างสัก 2 เมตรได้ ผมเดินตามไปดู ป้าชี้ให้ผมดูคริปกอใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ“ต้นนี่รึเปล่า?”  “ใช่ๆ ครับใช่” ป้าไม่รู้หรอกว่าผมดีใจแค่ไหน ผมขอบคุณป้ามากๆ นะครับ “เนี๊ย แต่ก่อนป้าเก็บขายพวกญี่ปุ่นเยอะแยะเลย แต่เดี๋ยวนี่มันไม่เอาแล้ว เค้าว่ามันเอาไปปลูกเองใส่ปุ๋ยเจริญงอกงามสวยกว่าของธรรมชาติอีก”  “....ครับ” ผมพูดพรางตาก็จดๆ จ้องๆ ที่ท่อนไม้ขนาดสักแขนที่ทอดพาดอยู่ใต้น้ำลงไปสักฟุต ตะไคร่เขียวๆ เกาะให้กรังไปหมด คงลื่นน่าดู ป้าไปได้ยังไง“ไม่ต้องข้ามมาหรอก ลื่น เดี๋ยวป้าเด็ดไปให้”  “เออ ไม่เอาครับผมอยากดูใกล้ๆ อ่ะ จะถ่ายรูปด้วย”   ว่าพลางผมก็เอาถุงพลาสติกมาใส่กล้องแล้วค่อยๆ ไต่ข้ามไปอย่างทุลักทุเล ลุ้นตัวเองเหนื่อยเลยครับ ขากลับป้าพาผมไปจุดที่แกทำเป็นกระชังขังปลาไว้ ผมจับปลาของป้ามาถ่ายรูปไปหลายตัว ปลาบางกระชังก็ป่วยหง่อมแหง่ม ป้ามีปลากัดช้าง กับ ปลาหมอจำปา อยู่หลายตัว ถึงแม้จะไม่ได้อยากได้ แต่ผมก็อยากช่วยป้าเลยขอซื้อมา ตอนแรกกะว่าจะเอาไปปล่อยที่อื่น แต่พอนึกถึงปลาในกระชังอื่นที่กำลังป่วย กับปลาพวกนี่ที่ดูไม่แข็งแรงนัก ผมก็เปลี่ยนใจ กลัวปล่อยไปแล้วจะเอาโรคไปติด หรือบางตัวที่เป็นแผลอาจจะไม่รอด คิดอย่างนั้นแล้วผมตัดสินใจเอากลับบ้านมาด้วย  ผมลาป้าแล้วก็ขึ้นรถกลับมาที่หน่วยฯ เพื่อจะไปเที่ยวทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าพรุสักหน่อย ถึงแม้จะมีอยู่ในกระชังป้าที่บอกว่าจับได้ด้วยลอบในป่าด้านในที่ต้องถ่อเรือเข้าไป แต่ผมก็ยังอยากเห็นปลากัดช้างตอนที่เค้าว่ายอยู่ในธรรมชาติ

ทางเดินศึกษาธรรมชาติที่พรุโต๊ะแดงทำไว้ได้เทห์มากๆ เป็นทางไม้เหนือพรุลุยเข้าไปในป่า ระหว่างทางมีป้ายให้ความรู้ต่างๆ มากมาย ผมหยุดยืนอ่านมันซ่ะทุกป้าย เลยใช้เวลานานมากๆ   บางช่วงก็สร้างเป็นหอคอยขึ้นไปให้ดูเรือนยอดของต้นไม้ ผมเดินดูต้นไม้ไปด้วย ส่องปลาในน้ำไปด้วย ปลาที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นปลาเข็มกับปลาซิวขนาดเล็กๆ ที่ผมว่าน่าจะเป็นซิวข้างขวานหรือไม่ก็เจ้าผอมแถบดำ บางทีก็เจอปลาเสือ 6 แถบว่ายกันเป็นฝูงอยู่ตรงจุดที่น้ำไหลเอื่ยๆ   ผมโชคดีได้เห็นปลาช่อนเข็มด้วย แต่เค้าอยู่ไกลมากเลยไม่ได้ถ่ายรูปมา ผมมาเจอปลากัดช้างก็ตอนเกือบจะสุดทาง และถอดใจแล้ว ปลากัดตัวใหญ่ ลอยตัวอยู่นิ่งๆ กลางแอ่งเล็กๆ ที่น้ำไหลผ่านเอื่อยๆ หางที่มีขอบสีฟ้าๆ ทำให้ผมเห็นกรอบที่เป็นปลาชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นภาพที่น่าประทับใจมากๆ และคุ้มค่ากับการชับรถนับ 1000 กิโลเมตร เพื่อมาดูสักครั้งในชีวิต ตอนแรกผมเห็นจากระยะไกล เมื่อขยับเข้าไปใกล้ๆ เพื่อจะถ่ายภาพ ปลากัดก็หลบเข้าไปในรากไม้ “เรามาดี ขอถ่ายรูปหน่อยนะ” ผมนั่งบ่นไปคนเดียวเงียบๆ อีกครั้ง แล้วเจ้าปลากัดก็กลับออกมาให้ผมถ่ายรูปจริงๆ ผมว่าถ้าเรามาดี บ้างครั้งเราจะสามารถสื่อกับสัตว์ได้จริงๆ ทั้งจิ้งจก และปลากัดช้างเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ น่าเสียดายที่ความมืดของป่า และความไกลของปลา ทำให้ภาพออกมาไม่ชัดนัก เวลามีน้อยนิด แต่ทางเดินมีอีกหลายที่ ยังเหลือสถานที่อีกแห่งที่ผมอยากไป ผมกล่าวอำลาพรุโต๊ะแดง ดินแดนในฝันของผม เพื่อมุ่งหน้าลงใต้ สู่ อ.แว้ง ที่ตั้งของป่าบาลา ป่าใต้สุดแดนสยามที่เต็มไปด้วยสัตว์ และต้นไม้แปลกๆ

จบภาค 2
 
สู่ป่าใต้สุดแดนสยาม

“น้ำตกสิรินธรไปทางไหนครับ?” “ครับ ขอบคุณครับ”  น้ำตกสิรินธร อยู่ในป่า บาลา เป้าหมายที่ 2 ในวันนี้ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมอ่านการค้นพบสัตว์ และต้นไม้ใหม่ๆ จากป่าแห่งนี่มากมาย ผมอยากเห็นย่านดาโอ๊ะ (ใบไม้สีทอง) (Bauhinia aureifolia) อยากเห็นว่านหางช้าง (เพช็รหึง) (Grammatophyllum  speciosum) ต้นกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ผมมั่นใจว่าต้องมีอยู่ในป่าแห่งนี้ นี่ยังไม่รวมนกเงือกที่ว่ากันว่ามีชุกชุมที่สุดในประเทศไทย ผมหวังว่าผมอาจจะโชคดี ผมถามไปตลอดทางอีกครั้ง หลบแพะที แกะที จนในที่สุดด้านหน้าผมก็ คือขุนเขาใหญ่โตที่รกทึบไปด้วยป่าเขียว ขับผ่านสะพานที่ด้านล่างมีลำธารไหลผ่านหลายสาย ลัดเลาะไปสู่ทางเข้าน้ำตกสิริธร ผมมาที่นี้จากคำบอกเล่าของพี่หมีว่าปลาในน้ำตกมีอยู่เยอะแยะไปหมด

ผมมาถึงน้ำตกเมื่อตอนบ่ายแก่ๆ เมฆแบบคูมูโลนิมบัส (คูมูโลนิมบัส) ลอยต่ำเป็นแผงขาวหนาทึบบ่งบอกว่าฝนยังจะตกอีก น้ำตกสิรินธรเป็นน้ำตกขนาดกลางที่ไม่สูงชัน แต่เป็นชั้นเอียงๆ ประมาณ 45 องศาสลับกับวังเล็กๆ ลงมายาวเหยียด  น้ำยังเยอะ และแรงอยู่มาก ผมจำได้ว่าเคยเห็นภาพใบไม้สีทองจากวิวหน้าตาแบบนี้ แต่วันนี้แหงนคอตั้งบ่าไปรอบๆ ก็ไม่เจอ ที่วังน้ำนิ่งๆ หลังก้อนหินมีลูกปลาว่ายเล่นอยู่หลายตัว ลองช้อนดูก็พบว่าเป็นลูกปลาพลวง น้ำแรงอย่างนี้ปลาคงไม่อยู่กัน ผมเดินลัดเลาะลงไปในจุดที่น้ำไหลเบาลง ป่าดงดิบแห่งนี้ชุ่มชื่น และสมบูรณ์ไปด้วยไม้ใหญ่ เฟิร์น และพืชชั้นต่ำอย่างมอส และไลเค็น

ที่แอ่งน้ำไหลเอื่อยๆ มีหินหน้าตาแปลกๆ อยู่หลายก้อน ปลาเล็กปลาน้อยแหวกว่ายกันเต็มไปหมด ผมใส่หน้ากากดำน้ำ ก้มๆ ไปดูก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับฝูงปลามากหน้าหลายตา น้ำไม่ใสนัก และแดดก็ไม่มี แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะลองถ่ายภาพใต้น้ำดู ปลาที่นี่ไม่ถึงกับเชื่อง แต่ก็ไม่ตื่นคน ยิ่งถ้าคุณยืนอยู่นิ่งๆ นานๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้นไปแล้ว ปลาแทบจะว่ายมาซุกอยู่ที่เท้าเลยด้วยซ้ำ ทั้งปลาจาด ปลาขาว ปลาเลียหิน ปลาล่องไม้ตับ ปลากระทิง และ ที่ผมชอบที่สุด คือเจ้าปลาหมูจุด ผลัดกันแหวกว่ายเข้ามาในรัศมีสายตา ผมไม่ต้องแหวกว่ายให้เหนื่อย หาจุดมั่นสักจุดที่เห็นปลาผ่านไปผ่านมาเยอะๆ แล้วก็ยืนก้มดูอยู่ตรงนั้นแหละ ปลาน้ำจืดไม่ชอบให้คุณไปว่ายไล่ตาม และตื่นคนกว่าปลาทะเลมาก การยืนอยู่เฉยๆ ให้เค้าว่ายมาหาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เป็นความเพลิดเพลินยิ่งกว่าดูปลาในตู้ที่บ้านซ่ะอีก ที่นี้ทุกชีวิตเป็นอิสระ

ผมมารู้ตัวอีกที ฝนก็เริ่มตกแหมะๆ เมฆรั่วซ่ะแล้ว กระเป๋ากล้องที่สะพายมาด้วยมีของแพงอยู่เยอะ จำต้องล่าถอยกลับไปตั้งหลักที่รถ นี่ก็เย็นมากแล้ว ข้าวกลางวันก็ไม่ได้กิน เพราะมัว แต่ห่วงเล่น นกเงือกก็ยังไม่เห็น ใบไม้สีทอง กะ ว่านหางช้างด้วย น่าเสียดาย แต่ก็ไม่เป็นไร ผมขับรถออกมาถึงป้อมเจ้าหน้าที่ นึกขึ้นมาได้ว่ายามนี้ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็ คือเจ้าหน้าที่นี่แหละ หมอดูบอกไว้ว่าผมเป็นคนที่ดวงอุปภัมณ์ดี จะมีคนคอยช่วยเหลือตลอด อิ อิ  “พี่ครับใบไม้สีทองมันขึ้นอยู่ที่ไหนอ่ะครับ? อยากเห็นว่านหางช้างด้วยครับ”  “นี่ไงครับใบไม้สีทอง” พี่พูดพลางชี้ไปเหนือป้อม ที่มีย่านดาโอ๊ะต้นใหญ่พาดอยู่บนหลังคา ด้านหลังที่มีต้นไม้ใหญ่ก็เลื้อยพันรอบไปหมด “ แต่ก่อนมีอีกต้นที่น้ำตก แต่มันโดนน้ำพัดไปแล้วน่าเสียดาย หน้านี่ใบมันไม่ทองหรอกน้อง ต้องมาตอนมันแตกยอดใหม่เยอะๆ ช่วงสิงหา ว่านหางช้างอยู่ตรงนู้น ตามมาสิ”  ว่าพลางก็เดินนำผมกลับลงไปทางน้ำตก ฝนยังหยดแหมะๆ เบาๆ ผมภาวนาอย่าให้ฝนรีบตกลงมาแรงๆ เอากล้องใส่ถุงก๊อปแก๊ปแล้วก็รีบตามพี่เค้าไป ที่คาคบต้นไม้ใหญ่ ว่านหางช้างสามยอดยาวเหยียดขึ้นเบียดอยู่กับไม้อิงอาศัยอีกหลายต้น “หน้านี่ไม่มีดอกหรอกน้อง”  ไม่ต้องเห็นดอกก็ได้ครับ แค่ได้เห็นในธรรมชาติอย่างนี้ก็ดีใจแล้ว ดีกว่าเห็นดอกในกระถางที่กรุงเทพฯเป็นไหนๆ   เมื่อเห็นผมสนใจเรื่องต้นไม้ พี่เค้าเลยพาดูต้นไม้อีกหลายต้น ที่ผมชอบอีกอย่างก็เป็น หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes mirabilis) กับกล้วยไม้ดินดอกสีชมพูสดใสชื่อเอื้องไผ่ (Arundina graminifolia)  ที่ทางอุทยานปลูกไว้หลายกอ เริ่มเย็นมากๆ แล้วผมลาพี่เจ้าหน้าที่แล้วขับรถออกมาเรื่อยๆ สายตาสอดส่ายหานกเงือกไปเรื่อย แต่ก็ไม่มีโชค ผมผ่านลำธารสายเล็กๆ อีกสาย จอดดูเห็นน้ำใสไหลเย็น ทนไม่ได้เลยต้องจอดรถลงไปหาปลาดูอีกซึ่งปลาที่ได้ก็เป็นปลาแบบเดียวกับที่เห็นบริเวณน้ำตก จะมีเพิ่มมาก็ คือปลาตัวโปรดของผมเจ้าปลาม้าลายมุก (ซิวใบไผ่พันธุ์เล็ก)(Danio alboliniatus) ซึ่งปลาที่นี้ดูเหมือนลำตัวจะกว้างกว่าปลาจากแหล่งอื่นๆ ที่ผมเคยพบมา  

หิวข้าวมากๆ แล้ว ผมหลงไปหลงมาอยู่ในตัวอำเภอสุไหงโก-ลกสักพักก็หาทางออกเจอ บึ่งรถกลับปัตตานีสู่ตลาดโต้รุ่งที่มีอาหารอร่อยๆ เยอะแยะอย่างไม่เหลียวหลัง วันรุ่งขึ้นผมตื่นไปเที่ยวชายหาดกะโละกะโปร์ เพื่อถ่ายรูปเรือกอ และ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง แถมยังมีเด็กชาวเลอิสลามอีกกลุ่มใหญ่มาล้อมหน้าล้อมหลังคอยให้ถ่ายรูป จนในที่สุดผมก็ได้ถ่ายภาพเรือไม่กี่รูป แต่ภาพเด็กเยอะแยะไปหมด เด็กๆ ชอบกล้องดิจิตอลมาก เพราะถ่ายเสร็จแล้วก็ได้ดูเลย ผมเปิดให้ดูก็หัวเราะชอบใจ ต่างคนต่างแย่งกันดู พูดภาษายาวีกันใหญ่ ผมถ่ายจนหมดเนื้อที่การ์ด (โดนเด็กหาว่าโกหกด้วยนะ หมดจริงๆ !) ก็ร่ำลาเด็กๆ โดยสัญญาว่าจะส่งรูปมาให้คนละสองใบ (ต่อลองลงมาจากคนละสี่ใบแล้วนะเนี๊ย)
“กรุงเทพฯ 1045” ป้ายหน้าโรงแรมที่ปัตตานีบอกผมอย่างนั้น บ้านยังอยู่อีกไกล ต้องขับเหนื่อยอีกเป็นสิบชั่วโมง แต่การล่องใต้ครั้งนี้ก็คุ้มแสนคุ้ม   
“I’ll be back.”

******************************************
เชิญติชมเรื่องนี้ได้ที่นี้ครับ

ขอขอบคุณ:
คุณพ่อคุณแม่ที่ให้กำเนิดผมมาดูโลกใบนี่,พรุโต๊ะแดง และป่าบาลา และ ออกค่าเดินทาง และที่พักให้กระผม
คุณน้าๆ ที่เลี้ยงดูปูเสื่อคุณหลานเป็นอย่างดี
ทุกท่านที่บอกทางตอนผมหลง (ทั้งที่บอกถูก และบอกผิด)
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกท่านที่พิทักษ์ป่า(ทั้งโต๊ะแดง และบาลา) และให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
คุณป้าใจดีที่พาเดินชมพรุ
พี่หมี, พี่น๊อต, พี่โทนี่, น้องกิ๊ก, น้องโอม ที่ช่วยให้ข้อมูลในการเขียน
คุณแทน และ เพื่อนๆ ที่ fernsiam.com สำหรับข้อมูลเฟิร์น
คนอ่าน (ผมจะเขียนไปทำพรื้อท่าไม่มีคนอ่าน จริงม่าย?)

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เห็นบทความนี้ที่ไร อยากไปทุกที 

ความเห็นที่ 2

รอไปเยือนครับ อ่านแล้วคิดถึงเลยบทความนี้

ความเห็นที่ 3

โห่ยย ... อยากไป อ้าก....

ความเห็นที่ 4

อุดมสมบูรณ์มาก ควรอนุรักษ์ไว้ค่ะ

ความเห็นที่ 5

คิดถึงบ้านจัง ขนาดผมไปบ่อยๆยังไม่รู้เลยว่าที่นั่นมันมีอะไรเยอะแยะขนาดนี้