เรื่องไม่มีพิษ...ของนกมีพิษ

เรื่องโดย: นพปฎล มากบุญ


“Discovery consists in seeing what everyone else has seen and thinking what no one else has thought.”
"การค้นพบเกิดจากการเห็นสิ่งที่ทุกคนเห็นและคิดในสิ่งที่ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อน"
- Albert Szent-Gyorgyi (นักชีวเคมีชาวฮังการี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ปี 1937)


 
เมื่อถามว่าสัตว์กลุ่มใดมีพิษ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตกลุ่มแมงป่อง แมงมุม หรืองู เช่นเดียวกับจอห์น ดัมแบชเชอร์ (John P. Dumbacher) นักศึกษาปริญญาเอกที่ติดตามคณะสำรวจไปยังหมู่เกาะนิวกินีในปี ค.ศ. 1981 เขาทำวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาของปักษาสวรรค์แร็คจี้ (Raggiana's Bird of Paradise; Paradisaea raggiana) ภายในอุทยานวาริราตา (Varirata National Park) หนึ่งในงานของเขาคือการวางตาข่ายและศึกษานกสีเหลืองส้มชนิดนี้โดยละเอียด หลายครั้งเช่นกันที่มีนกชนิดอื่นมาติดตาข่ายของเขาโดยเฉพาะนกเฉพาะถิ่นอย่างนกพิโทวี่หัวดำ (Hood Pitohui; Pitohui dichrous) ทำให้เขาต้องเสียเวลาแกะนกเหล่านี้ออกจากตาข่าย ตัวเขาเองคุ้นเคยกับนกพิโทวี่เป็นอย่างดี เพราะมันอยู่ทุกหนแห่งบนเกาะแห่งนี้ ชนพื้นเมืองที่นี่เรียกมันว่า "นกที่มีกลิ่นสาบ" เนื่องจากกลิ่นสาบรุนแรงที่สามารถติดอยู่กับผิวหนังได้นานหลายวัน ชนพื้นเมืองจึงไม่นิยมกินกัน หรือถ้าต้องกินมันจริงๆ โดยเฉพาะในช่วงขาดแคลนอาหาร ชาวพื้นเมืองจะถอนขนและถลกหนังออกแล้วนำมาคลุกกับผงถ่านก่อนนำมาย่างกิน

 


 
วันหนึ่งขณะที่เขากำลังแกะนกพิโทวี่หัวดำออกจากตาข่ายนั้น มันได้ข่วนมือจนเป็นแผล เขาตกใจและรีบเลียแผลนั้นทันที หลังจากนั้นไม่นานปากของเขาเริ่มบวมและชา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการสัมผัสพิษบางอย่าง ในตอนนั้นเขาคิดว่าอการดังกล่าวมาจากพิษของพืชที่เขาอาจเดินแล้วไปสัมผัส และเมื่อสัมผัสกับปากก็จะทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น อีกไม่กี่อาทิตย์ต่อมา สมาชิกในคณะสำรวจหลายคนก็มีอาการคล้ายคลึงกับเขาหลังจากเอานิ้วไปสัมผัสกับปาก ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริง...แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ นกพิโทวี่... 

ข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการบวมชาของปากและนกพิโทวี่นี้ทำให้ดัมแบชเชอร์ต้องกลับมายังเกาะปาปัวนิกินีอีกครั้งในปีถัดมา เขาได้ดึงขนนกพิโทวี่หลายชนิดและชิมมัน และแล้วอาการที่คุ้นเคยก็เกิดขึ้นกับเขาอีกครั้ง ... ในที่สุด เขาก็ค้นพบว่าขนของมันมีพิษอย่างแน่นอน! หลังจากนั้นเขาได้ขออนุญาตเพื่อศึกษานกชนิดนี้ คณะของเขาได้ร่วมมือกับจอห์น ดัลลี่ (John Daly) นักเภสัชวิทยาผู้ค้นพบพิษของกบลูกศรพิษ (Poison dart frog; Phyllobates spp.) ในอเมริกากลาง เพื่อค้นหาว่าพิษดังกล่าวคือพิษอะไร พวกเขาพบว่าพิษของนกพิโทวี่เป็นสารพิษกลุ่มเดียวกับพิษของกบลูกศรพิษนั่นคือ บราทาโคท็อกซิน (bratachotoxins; BTX) ซึ่งมีชื่อว่า โฮโมบราทาโคท็อกซิน (homobratachotoxin; h-BTX) นกพิโทวี่ 5 ใน 6 ชนิดมีพิษนี้ในปริมาณที่แตกต่างกัน แต่ขนและผิวหนังของนกทุกชนิดมีความเข้มข้นของพิษมากที่สุด (ในปัจจุบัน นักวิทย์ค้นพบว่าสารพิษดังกล่าวยังสะสมในอวัยวะภายในของนกพิโทวี่หัวดำโดยเฉพาะกล้ามเนื้อลาย (skeletan muscles) หัวใจ และตับ) พวกเขาได้ตีพิมพ์การค้นพบที่น่าตื่นเต้นนี้ลงในวารสาร Science ในปี 1993 ทำให้นกพิโทวี่เป็นนกมีพิษชนิดแรกที่มีการศึกษาและจำแนกพิษออกมาได้ นกพิโทวี่เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาเกือบ 160 ปี มีการพบเจอนับครั้งไม่ถ้วน แต่กลับไม่มีใครรู้เลยว่ามันมีพิษจนกระทั่งการค้นพบ"โดยบังเอิญ"ของจอห์น ดัมแบชเชอร์ การค้นพบที่ไม่ต้องไขว่คว้า...เพียงแค่ใส่ใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเท่านั้น 

นกพิโทวี่ถือเป็นนกเฉพาะถิ่นที่พบได้ในหมู่เกาะนิวกินีเท่านั้น ในปัจจุบันพวกมันอยู่ในวงศ์ Pachycephalidae มีทั้งหมด 7 ชนิด สำหรับนกพิโทวี่หลากสี (Variable Pitohui; Pitohui kirhocephalus) อาจแยกย่อยตามสีขนและพื้นที่ที่พบได้อีก 20 ฟอร์มเลยทีเดียว นกพิโทวี่เป็นนกขนาดกลางที่มีสีสันสดใส นักวิทย์เชื่อกันว่า สีสันที่สดใสของพวกมันเป็นสัญญาณเตือนภัยแก่สัตว์นักล่า (aposematism) พวกมันกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร นักปักษีวิทยารู้จักพวกมันในฐานะผู้นำฝูงนกต่างชนิดที่หากินร่วมกัน (mixed-species flocks) โดยไม่ว่าเจ้านกพิโทวี่จะกระโดดหากินในบริเวณใด นกชนิดอื่นก็จะตามมันไป นักวิทย์ได้สังเกตพบว่านกชนิดอื่นที่ตามนั้นมักจะมีสีสันและรูปแบบที่คล้ายคลึงกับนกพิโทวี่ และได้ตั้งสมมติฐานหนึ่งว่าลักษณะเช่นนั้นอาจเป็นการเลียนแบบเบทส์ (Batesian mimicry) ซึ่งเป็นการเลียนแบบประเภทหนึ่งที่พวกถูกล่าเลียนแบบสัตว์ที่พวกสัตว์นักล่าไม่กินทั้งสีสัน รูปร่าง และพฤติกรรม


 

 

แล้วสารพิษนี้มีประโยชน์อะไรกับนกพิโทวี่ล่ะ? ดัมแบชเชอร์ตั้งสมมติฐานว่าสีสันอันฉูดฉาดเป็นเครื่องเตือนภัยแก่สัตว์นักล่าและพิษของมันเป็นเสมือนเครื่องป้องกันตัวจากสัตว์นักล่าต่างๆ  เพราะว่านกพิโทวี่มีศัตรูในธรรมชาติอยู่หลายชนิดเช่นเหยี่ยวและงู รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองในหลายท้องที่ของหมู่เกาะนิวกินี หลังจากนั้นก็มีนักวิทย์ได้ตั้งสมมติฐานเพิ่มเติมว่า พิษนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันตัว แต่เกี่ยวกับการป้องกันปรสิตภายนอก จากงานวิจัยล่าสุดปัจจุบันบ่งชี้ว่าสารพิษนี้มีบทบาททั้งในการป้องกันสัตว์นักล่า และขับไล่และฆ่าปริสิตภายนอกต่างๆ  นักวิทย์เชื่อว่านกพิโทวี่และอีฟริตต้าหัวฟ้าได้รับพิษมาจากอาหารที่มันกินเข้าไปนั่นก็คือด้วงสกุล Choresine ในวงศ์เมลีริดี้ (Melyridae) เช่นเดียวกับกบลูกศรพิษที่ได้รับพิษมาจากอาหารที่กิน ด้วงสกุล Choresine เป็นแมลงขนาดเล็ก (ประมาณ 7 มิลลิเมตร) ที่มีพื้นที่การกระจายพันธุ์กว้าง อย่างไรก็ตาม หลักฐานในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ด้วงนี้อาจไม่ได้สร้างพิษนี้ขึ้นเอง แต่อาจมาจากสารจากพืชที่มันกินเข้าไปอีกทีหนึ่ง

 

 

โฮโมบราทาโคท็อกซิน (homobratachotoxin) เป็นสารประเภทสเตียรอยดัลอัลคาลอยด์ที่มีพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic steroidal alkaloids) สารพิษกลุ่มบราทาโคท็อกซินถูกค้นพบครั้งแรกในกบลูกศรพิษในสกุล Phyllobates โดย ดร.จอห์น ดัลลี่และคณะ เขาพบว่าพิษนี้จะหลั่งออกมาจากต่อมด้านหลังหัวของกบลูกศรพิษ ชนเผ่าอินเดียแดงทางภาคตะวันตกของโคลอมเบียจึงได้นำพิษนี้มาใช้อาบปลายลูกดอกเพื่อล่าสัตว์ ในปัจจุบันนักวิทย์รู้แล้วว่ากบลูกศรพิษได้รับพิษมาจากอาหารที่มันกินเข้าไป แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันคืออะไร โฮโมบราทาโคท็อกซินถือเป็นหนึ่งในสารพิษที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่า curare และสตริกนิน (strychnine) ค่าต่ำสุดของ LD50 (ปริมาณพิษที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่งภายในครั้งเดียว) ของการฉีดสารพิษนี้เข้าใต้ผิวหนังของหนูคือ ประมาณ 0.04 ไมโครกรัม โดยมันจะไปกระตุ้นกระแสประสาทภายในกล้ามเนื้อและเส้นประสาททำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเกือบจะทันที

หลังจากนั้น ดัมแบชเชอร์ได้กลับไปยังหมู่เกาะนิวกินีอีกครั้งและได้รับคำบอกเล่าจากชนเผ่าพื้นเมืองว่า นกที่มีชื่อพื้นเมืองว่า "Slek-Yakt" (แปลว่า "นกที่มีเนื้อขม") นั้นมีพิษเช่นกัน การกินนกชนิดนี้จะทำให้ปากแสบร้อนรุนแรงกว่าการกินพริก อีกทั้งการสูดดมเอากลิ่นของนกชนิดนี้เข้าไปอาจทำให้เกิดอาการไอหรืออาการคล้ายอาการแพ้อื่นๆ สิ่งนี้ทำให้ดัมแบชเชอร์เกิดความสนใจที่จะศึกษา หลังจากศึกษาอย่างละเอียด เขาและดัลลี่ก็พบว่ามันคือนกอีฟริตต้าหัวฟ้า (Blue-capped Ifrita; Ifrita kowaldi) ซึ่งมีพิษบราทาโคท็อกซินเช่นเดียวกับที่พบในนกพิทูวี่...แต่ไม่ใช่ทุกตัว! ตัวอย่างในบางพื้นที่จะมีสารพิษอยู่มาก และในบางพื้นที่กลับไม่พบสารพิษนี้เลย ในตัวอย่างที่พบสารพิษนั้น ขนบริเวณอกและท้องจะมีสารพิษนี้อยู่มาก นี่บ่งชี้ว่ามันได้รับสารพิษจากอาหารที่มันกินเช่นเดียวกับนกพิโทวี่ เขาได้รายงานการพบนกชนิดที่สองที่มีพิษในปี 2000 ในปัจจุบันนักวิทย์พบว่า นอกเหนือจากสารพิษโฮโมบราทาโคท็อกซิน นกอีฟริตต้าหัวฟ้านั้นยังสะสมพิษในกลุ่มบราทาโคท็อกซินอื่นอีกหลายตัว นกอีฟริตต้าหัวฟ้าเป็นนกที่มีสีสันสวยงาม พบได้เฉพาะในป่าดิบเขา (ที่ระดับความสูง 1,500 เมตรขึ้นไป) ของหมู่เกาะนิวกินีเท่านั้น มันชอบไต่ตามลำต้นของไม้ยืนต้นคล้ายกับนกไต่ไม้ นกอีฟริตต้าเป็นนกกินแมลง แต่ก็มีรายงานว่าบางครั้งมันก็กินมอสขณะจิกกินแมลงด้วยเช่นกัน



 

 
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ นกทั้งสองชนิดที่มีสารพิษโฮโมบราทาโคท็อกซินอยู่กลับไม่เป็นอะไร ในปัจจุบันนักวิทย์พบว่านกทั้งสองชนิดมีความไวต่อสารพิษนี้ต่ำมาก เนื่องมาจากมีการสะสมสารพิษดังกล่าวในอวัยวะภายในโดยเฉพาะหัวใจและตับ และน่าจะเป็นผลจากสารประกอบบางอย่างที่ลดการจับกับตัวรับของสารพิษและการไหลทะลักเข้าของไอออนโซเดียม โดยทั่วไปแล้ว สัตว์นักล่ารวมถึงมนุษย์มักได้รับสารพิษนี้จากการสูดดม ทำให้เนื้อเยื่อโพรงจมูกและแก้ม (nasal and buccal tissues) เกิดการระคายเคือง ซึ่งทำให้เกิดการจามและมีอาการคล้ายกับอาการแพ้ตามมา และถ้าอยู่ใกล้กับหน้า สารพิษนี้จะทำให้น้ำตาเอ่อและน้ำมูกไหลได้ กลไกที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวของสารพิษโฮโมบราทาโคท็อกซินคือ มันจะไปจับและกระตุ้น voltage-gated sodium channels บนเยื่อบุผิวเส้นประสาทและกล้ามเนื้อโดยจะไปล็อค sodium channel นี้ให้เปิดรับไอออนโซเดียมตลอดเวลา ทำให้เกิดการไหลทะลักของไอออนโซเดียมไหลเข้ามา จนทำให้เกิดอาการดังที่กล่าวไป อย่างไรก็ตาม ในกบลูกศรพิษสกุล Phyllobates นั้นได้วิวัฒน์ให้มี sodium channel ที่ไม่ไวต่อสารพิษโฮโมบราทาโคท็อกซินกล่าวคือ แม้สารพิษดังกล่าวจะเกาะกับตัวรับนี้  แต่ตัวรับนี้ก็ยังคงทำงานโดยการส่งกระแสประสาทไปตามปกติ การศึกษาอื่นพบว่า การที่ sodium channel นั้นไม่ไวต่อสารพิษอาจเกิดมาจากความผิดปกติ (single point mutations) ในยีนของ sodium channel ก็เป็นได้ 

 

 

 
หลายคนอาจคิดว่านกพิโทวี่และนกอีฟริทต้าอาจเป็นนกสองชนิดที่มีพิษ แต่เมื่อลองมองย้อนกลับไปยังคำเล่าขานและรายงานต่างๆ จะพบว่า ไม่ใช่แค่นกสองชนิดนี้เท่านั้นมีพิษ แต่ยังมีนกอยู่อีก 11 ชนิดที่"เชื่อว่าหรือรายงานว่า"มีพิษ ในจำนวนนี้ รายงานส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด หรือยังไม่มีการจำแนกพิษ หรือบางรายงานใช้การสังเกตจากอาการหลังจากกินเนื้อนกชนิดนั้นเข้าไปแทนเช่น นกคุ่มยุโรป (Eurasian/Common quail; Coturnix coturnix coturnix) เป็นนกที่เชื่อกันว่ามีพิษมากว่า 3,500 ปี ซึ่งถือว่าเป็นนกที่มีคนเชื่อว่ามีพิษมายาวนานที่สุด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ใครทราบว่ามันสะสมพิษใดอยู่ นักวิทย์ทราบเพียงว่าเนื้อของมันจะมีพิษในบางตัว ในบางพื้นที่ และในบางช่วงเวลาของปี(ช่วงอพยพ)เท่านั้น เมื่อกินเนื้อที่มีพิษเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดภาวะได้รับสารพิษ(จากนกชนิดนี้)ที่เรียกว่า noturnism ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ อ่อนแรง บางกรณีอาจรุนแรงถึงหายใจไม่ออกและตายในที่สุด แม้อาการเหล่านี้จะดูน่ากลัว แต่ผู้ที่เคยกินก็ไม่เข็ดที่จะกินเนื้อนกชนิดนี้อีก(หลาย)ครั้ง แม้เขาจะเคยประสบกับภาวะได้รับสารพิษนี้มาแล้วก็ตาม

นักวิทย์พบว่านกที่มีการสะสมพิษภายในร่างกายนั้นมีจำนวนน้อยมาก แต่นกที่ใช้ประโยชน์จากสารที่ได้จากภายนอกในการป้องกันตัวนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว  สารที่อยู่ตามผิวหนังและขนอาจไม่ได้ใช้ในการป้องกันตัวจากนักล่าและป้องกันปรสิตภายนอกเพียงอย่างเดียว มันยังมีประโยชน์ในด้านการสืบพันธุ์และการใช้ชีวิต (เช่น การจดจำรัง เป็นต้น) ด้วยเช่นกัน นกอ็อกเล็ตหงอน (Crested Auklet; Aethia cristatella) นกกินแพลงก์ตอนขนาดเล็ก (เช่น เคย โคพีพอด ฯลฯ) ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งแถบทะเลเบอร์ริ่งจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ พวกมันจะปล่อยสารหอมระเหยที่คล้ายกับกลิ่นส้มออกมา เราสามารถรับรู้กลิ่นนี้เมื่อเข้าไปใกล้ฝูงของพวกมัน นักวิทย์ได้ตรวจสอบและพบว่ามีสารประกอบอัลดีไฮด์หลายตัวโดยมี n-octanal เป็นหลัก พวกเขาได้ตั้งสมมติฐานว่า สารระเหยนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงคุณภาพของคู่ครองในด้านสุขภาพที่ดีและปลอดภัยจากปรสิตภายนอก
 


 
นอกจากการสร้างหรือสะสมสารขึ้นมาแล้ว นกหลายชนิดยังมีการนำเอาสิ่งมีชีวิตที่มีข้อปล้องเช่น มด กิ้งกือ ฯลฯ มาถูขนเพื่อให้พิษของสัตว์เหล่านี้เคลือบติดกับขน เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า anting รวมถึงการนำเอาสารจากพืชมาเช่น สารลิโมนีน (limonene) จากเปลือกผลของพืชสกุลส้ม สารไพรีทรัม (pyretrum) จากดอกดาวเรือง เป็นต้น มาทาที่ขนหรือรังโดยตรง นักวิทย์ได้ตั้งสมมติฐานว่ามันทำเช่นนี้เพื่อป้องกันปรสิตภายนอก แต่มีการทดลองยืนยันแล้วว่าสมมติฐานในเรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากผลการทดลองไม่พบความแตกต่างระหว่างนกที่มีสารหรือสิ่งมีชีวิตดังกล่าวกับนกที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย

เมื่อมีคนถามว่าสัตว์กลุ่มใดมีพิษในครั้งต่อไป อย่าลืมให้นก...เป็นหนึ่งในคำตอบของคุณนะครับ ^^

หมายเหตุ: ชื่อไทยของนกทุกชนิดในบทความนี้ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

บทความเก่าเอามาลงใหม่ครับ

เอกสารอ้างอิง


    Ben-Ari, E. T. 2000. Birds of a (toxic) feather. Bioscience 50(12), 1136. 
    Daly, J. 1995. The chemistry of poisons in amphibian skin. Proc. Natl Acad. Sci. USA 92(1): 9–13.
    Diamond, J.M. 1992. Rubbish birds are poisonous. Nature 360, 19-20.
    Douglas III, H.D., J.E. Co, T.H. Jones, and W.E. Conner. 2001. Heteropteran chemical repellants identified in the citrus odor of a seabird (crested auklet: Aethia cristatella): Evolutionary convergence in chemical ecology. Naturwissenschaften 88, 330-332.
    Dumbacher, J.P. 1999. Evolution of toxicity in pitohuis: I. Effects of homobatrachotoxin on chewing lice (order Phithiraptera). The Auk 116(4), 957-963.
    Dumbacher, J. P., B.M. Beehler, T.F. Spande, H.M. Garrafo, and J.W. Daly. 1992. Homobatrachotoxin in the genus Pitohui—chemical defence in birds. Science 258, 799–801.
    Dumbacher, J. P., B.M. Beehler, T.F. Spande, H.M. Garrafo, and J.W. Daly.  1993. Pitohui: How toxic and to whom? Science 259, 582-583.
    Dumbacher, J. P., K. Deiner, K. Thompson, and R.C. Fleischer. 2008. Phylogeny of the avian genus Pitohui and the evolution of toxicity in birds. Mol Phylogenet Evol. 49(3), 774-781.
    Dumbacher, J.P., G.K. Menon, and J.W. Daly. 2009. Skin as a toxin storage organ in the endemic New Guinean genus Pitohui. The Auk 126(3): 520-530.  
    Dumbacher, J. P. and S. Pruett-Jones 1996.  Avian chemical defense.  Current Ornithology 13, 137-174.
    Dumbacher, J.P. and R.C. Fleischer. 2001. Phylogenetic evidence for colour pattern convergence in toxic pitohuis: Mullerian mimicry in birds? Proc R Soc Lond 268, 1971-1976.
    Dumbacher, J. P., T.F. Spande, and J.W. Daly. 2000. Batrachotoxin alkaloids from passerine birds: a second toxic bird genus (Ifrita kowaldi) from New Guinea. Proc Natl Acad Sci USA 97, 12970–12975.
    Dumbacher, J. P., A. Wako, S.R. Derrickson, A. Samuelson, T.F. Spande, and J.W. Daly. 2004. Melyrid beetles (Choresine): a putative source for the batrachotoxin alkaloids found in poison-dart frogs and toxic passerine birds. Proc. Natl Acad. Sci. USA 101, 15857–15860. 
    Hagelin, J.C. 2007. The citrus-like scent of crested auklets: reviewing the evidence for an avian olfactory ornament. Journal of Ornithology 148, 195-201.
    Hagelin, J.C. and I.L. Jones. 2007. Bird odors and other chemical substances: A defense mechanism or overlooked mode of intraspecific communication. The Auk 124(3):1–21.
    Jonsson, K. A., R.C.K. Bowie, J.A. Norman, L. Christidis, and J. Fjeldsa. 2008. Polyphyletic origin of toxic Pitohui birds suggests widespread occurrence of toxicity in corvoid birds. Biol. Lett. 4(1), 71-74.
    Legge, S. and R. Heinshn. 1996. Cooperative breeding in Hooded Pitohuis Pitohui dichrous. Emu 96, 139-140.
    Mouritsen, K.N. and J. Madsen. 1994. Toxic birds: defense against parasites? Oikos 69, 357-358.
    Poulsen, B. O. 1993. Poison in Pitohui birds—against predators or ectoparasites. Emu 93, 128–129.
    Rajchard, J. 2007. Intraspecific and interspecific chemosignals in birds: a review. Veterinarni Medicina 52(9): 385–391.
    Rajchard, J. 2009. The batrachotoxins with a protective function in birds. Ethology Ecology & Evolution 21: 79-82. 
    Sever, A. 2004. Avian toxicity: Batrachotoxins as chemical defense. Student Review Articles in Chemical Ecology (BI 570). Colorado State University.
    Summer, K. and M.E. Clough. 2001. The evolution of coloration and toxicity in the poison frog family (Dendrobatidae). Pro Natl Acad Sci U S A. 98(11), 6227-6232.
    Weldon, P.J. 2000. Avian chemical defense: Toxic birds not of a feather. Proc Natl Acad Sci USA 97, 12948-12949.

ความเห็นที่ 2

เคยได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่รู้เลยครับว่าตัวไหน ขอบคุณมากครับ

ความเห็นที่ 3

นกก็มีพิษด้วย!!?

ความเห็นที่ 3.1

อ่านสิ

ความเห็นที่ 4

อ่านเข้าใจง่ายและก็น่าทึ่งมากค่ะ

ความเห็นที่ 5

อ่านแล้วสนุกมากครับ น่าติดตามตลอดเลย ขอบคุนสำหรับความรู้ครับ