อีเห็นข้างลาย...สหายกลางคืน

เรื่อง: นายอุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมพ์

หากไปนอนกลางเต้นท์ตามอุทยานแห่งชาติหรือป่าอนุรักษ์ในไทยแห่งใด ออกมาเข้าห้องน้ำหรือยังไม่นอน เดินส่องไปฉายกราดไปตามต้นไม้ปลายยอด คุณอาจพบแสงไฟดวงกลมสะท้อนแสงสู้ไฟฉายกลับมา บางทีก็นิ่ง และบางทีมันก็เคลื่อนที่ได้ อย่าเพิ่งจินตนาการบรรเจิด จนพาตัวตะเลิดเปิดเปิง ไม่ใช่ผีสางเหนือธรรมชาติอย่างที่คิด หากแต่เป็นธรรมชาติเข้ามาใกล้ชิด โชคดีที่ได้พบกับเขา "เจ้าอีเห็นข้างลาย"

พูดถึง "อีเห็น" หลายคนอาจทำหน้างง นึกไม่ออก หน้าตาอีเห็นเป็นเช่นใด ผมจะบอกว่า หน้าตาคล้ายแมวตัวโตๆ หรือคล้ายกับเจ้าตัวแร็คคูน (raccoon) ในต่างประเทศ ส่วนเพื่อนของมันที่คนมักเรียกรวมกัน "ชะมด-อีเห็น" นั้นก็หน้าตาไม่หนีจากกลุ่มนี้ เพียงแต่ชะมดจะออกคล้ายสุนัขปนเข้ามาด้วย

ไปในป่าครั้งใด ทุกครั้งที่ค้างนอนในป่าหรือบ้านพักของอุทยานฯ ผมมักจะไม่ลืมส่องหาสัตว์กลางคืน นอกจากกระต่ายป่า ค้างคาว กระรอกบินแล้ว สัตว์กลุ่มพวกชะมด อีเห็นมักมาทักทายเราเสมอ ชะมดและผองเพื่อนตัวอื่นๆ อาจเจอได้ไม่บ่อยเท่ากับเจ้า "อีเห็นข้างลาย -common palm civet ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามัน "ธรรมดา-common"

อีเห็นธรรมดาหรืออีกชื่อหนึ่ง คือ อีเห็นข้างลาย สามารถพบได้แม้ในพื้นที่ใกล้ชุมชน ในพื้นที่ท้องถิ่นบ้างบ้าน มีอีเห็นหลบนอนบนหลังคาบ้านตอนกลางวันและช่วยจับหนูกินตอนกลางคืน เช่นเดียวกับทางหมู่เกาะในฟิลิปปินส์ สุลาเวสี ก็พบพวกมันบางกลุ่มอยู่ใกล้กับพื้นที่อาศัยของมนุษย์มาก จนคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นมนุษย์นี่แหล่ะ ที่นำเจ้าอีเห็นข้างลายไปช่วยจับหนู นอกจากนก,หนู สัตว์มีกระดูกสันหลังตัวเล็กๆ และพวกแมลง, แมงต่างๆ ที่เป็นอาหารแล้ว อาหารที่เป็นหลักของกลุ่มอีเห็นก็คือ พวกผลไม้ป่า และในสวนครับ เช่น ขนุน, กล้วยป่า, ผลปาล์ม, มะเดื่อ, มะละกอ เป็นต้น นอนในป่าคราวหน้า บริเวณใกล้ๆ ที่เรานอนพัก ลองมองหาต้นผลไม้สุกไว้ตั้งแต่ก่อนมืด โอกาสที่จะได้พบเห็น อีเห็นข้างลายก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วครับ


"กุ้งนาง" อีเห็นข้างลายขาประจำ ที่บ้านกร่างแคมป์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภาพโดย วรรธิดา ห.เพียรเจริญ
 

แล้วมันต่างกันอย่างไร? ระหว่าง "ชะมดกับอีเห็น" ลองมาดูกัน เริ่มแรกที่การแยกรูปร่างหน้าตาภายนอกก่อน โดยส่วนมากแล้ว ชะมดจะตัวใหญ่กว่า ขายาวกว่า ยกเว้นก็แต่ชะมดแปลง (Prionodon sp.) ที่ขาจะสั้น และตัวเรียวยาวคล้ายอีเห็น ถ้าจะให้ชัวร์แน่นอน ต้องดูที่หาง ชะมดในเมืองไทยทุกชนิด มีหางเป็นลายปล้องๆ สลับกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง เช่น ชะมดแผงหางปล้อง (Indian large civet) ตรงกันข้ามกับพวกอีเห็นที่ไม่มีตัวใดเลยที่หางเป็นลายปล้องสลับกัน อย่างชะมด อาจมีในบางตัวที่ปลายหางขาวในอีเห็นข้างลายและอีเห็นเครือเท่านั้น

ส่วนถ้าลงลึกกันไปอีกสักนิด อีเห็นต่างจากชะมด ที่ตีนของมันได้ดัดแปลงไปสำหรับปีนป่าย (scansorial feet) โดยเฉพาะ โดยที่นิ้วที่ 3 และ 4 ของตีนหลังบางส่วนมีพังผืดเชื่อมติดกัน อุ้งเท้าแยกออกเป็นสี่ส่วน อีเห็นจะมีนิ้วตีนทั้งหมด ฝ่าตีนละ 5 นิ้ว มีเล็บคมยาวไว้ปีนป่าย ต่างจากพวกกลุ่มชะมดที่ก้มก้มตาสมัครใจอยู่ตามพื้นมากกว่า และเป็นสัตว์นักล่ามากกว่า คือหากินพวกนก หนู กบ เขียดตามพื้นดิน ขณะที่อีเห็นหาอาหารอยู่บนต้นไม้ ทั้งนี้ เพราะอีเห็นและชะมดต้องการปัจจัยทั้งในอาหารและที่อยู่คล้ายๆ กัน อีเห็นเป็นรองชะมดในเรื่องขนาดอยู่แล้ว ล่าเหยื่อบนพื้นดินสู้ชะมดไม่ได้แน่ๆ  จึงเลือกไปหากินบนต้นไม้ โดยมีผลไม้และสัตว์ตัวเล็กๆ ที่เกาะนอนตอนกลางคืน อย่างนก, แมลง, กิ้งก่ามาทดแทนเหยื่อจากพื้นดิน

"อีเห็นห้า ชะมดสี่" นักวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ใช้สูตรนี้ จำแนกรอยตีนของสัตว์สองกลุ่มออกจากกัน ได้อย่างถูกต้องและไม่สับสน ชะมดล่าเหยื่อบนพื้นดินมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องมีห้านิ้วเท่าอีเห็น และชะมดจะมีฝ่าตีนที่ใหญ่กว่า ในคืนฝนตกสัตว์กลุ่มนี้ มักออกล่าเหยื่ออย่างกบ เขียดตามพื้นดินด้วย ดินที่อ่อนนุ่ม ทั้งชะมดและอีเห็นจะฝากรอยประทับไว้บนพื้นอย่างไม่รู้ตัว รุ่งเช้าผ่านไปเจอรอยของพวกมัน ลองวิชาหัดจำแนกดูได้

หน้าตากลุ่มชะมด สังเกตที่หางเป็นลายปล้องสลับชัดเจน

นอกจากอาหารทั้งพืชและสัตว์ที่อีเห็นข้างลายกินแล้ว พวกน้ำหวานจากเกสรดอกของไม้ต้น ผมเคยพบอีเห็นข้างลายและอีเห็นเครือ มากินน้ำหวานของดอกจากต้นลูกดิ่ง (Pakia sumatrana)-ทั้งดอกและผลของมัน คล้ายต้นสะตอที่ชาวใต้ชอบทาน ที่สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาด้วย และยังมีรายงานจากนักวิจัยชาวต่างชาติบางท่าน ที่เรียกอีเห็นข้างลายนี่ว่า "อีเห็นขี้เมา" ก็ด้วยมันชอบขึ้นไปขโมยน้ำตาลสดจากกระบอกที่ชาวบ้านเอาไปรองน้ำตาลจากงวงตาลหรือต้นมะพร้าว ซึ่งน้ำตาลสดที่ว่านี้ สามารถเอาไปหมักทำเป็นน้ำตาลเมาได้ และด้วยหน้าตาที่คล้ายแมวของมัน มันจึงมีชื่อในต่างชาติว่า "Toddy cat" ด้วย 

มีแนวคิดต่อยอดการศึกษาเรื่องนี้ นักวิจัยต่างชาติเชื่อว่า กลุ่มลิงลม อีเห็นพวกนี้ ติดเหล้า หมายถึงน้ำหวานจากดอกไม้หรือผลไม้ที่หมักในกระเพาะของมัน แล้วออกผลเป็นแอลกอฮอล์ ทุกๆ คืน สัตว์พวกนี้ จะออกตามหาผลไม้และน้ำต้อยดอกไม้เพื่อดื่มกิน เ สมมติฐานที่ว่าก็คือ แล้วทำไมพวกมันจึงไม่ตายหรือมีผลข้างเคียงอะไรจากการเป็น alcoholism หากผลการศึกษาวิจัยไขความลับตรงนี้ได้ เราอาจช่วยคนที่เป็นโรค  alcoholism ได้ 

ส่วนคุณประโยชน์ของสัตว์ป่าในกลุ่มนี้ที่เราไม่พูดถึงเป็นไม่ได้  คือ การเป็นตัวกระจายพันธุ์ให้กับต้นไม้ เมล็ดไม้ขนาดใหญ่ๆ เกินกว่าที่นก—นักกระจายพันธุ์พืชที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดจะสามารถพาไปได้ อีเห็นธรรมดาจะทำหน้าที่นี้ ด้วยการที่มันกินผลไม้เข้าไปทั้งลูก และกินเมล็ดเข้าไปด้วย มูลของพวกมันจึงเต็มไปด้วยเมล็ดของไม้ผลที่มันกิน  ซึ่งเมล็ดเหล่านี้ พร้อมที่จะงอกได้ หากมีความเหมาะสมของพื้นที่เพียงพอ นอกจากนี้ มันยังควบคุมปริมาณของสัตว์ขนาดเล็กที่มันกินเป็นอาหาร ให้มีปริมาณที่เหมาะสม เรียกได้ว่า ทำหน้าที่ในธรรมชาติ ได้ทั้งสองทางเลยทีเดียว


อีเห็นข้างลาย สีข้างของมันลาย ด้วยจุดสีดำต่อเป็นแถวชัดๆ ลงหาอาหารที่พื้นช่วงหลังฝนตก 

พอพูดถึงมูลของกลุ่มชะมด-อีเห็นแล้ว คงต้องพูดถึง “กาแฟขี้ชะมด” (จริงๆ แล้ว เป็นกาแฟขี้อีเห็น) ที่เป็นผลิตผลจากขี้ของอีเห็น ซึ่งไปกินผลอ่อนของเมล็ดกาแฟ แล้วถ่ายออกมา คนก็นำมูลนั้นมาตากแดด แล้วก็บดหรือคั่วกันไปตามกระบวนการ กาแฟขี้อีเห็น ที่ว่านี้ มีอาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา ของ ม. เกษตรศาสตร์ ท่านหนึ่ง เคยซื้อมาจากอินโดนีเซีย ในซองบรรจุผงกาแฟหนัก 50 กรัม ผมสอบถามราคาอยู่ที่ 1600 บาท ต้นกำเนิดกาแฟขี้อีเห็นนี้ มีผลิตกันที่เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า “Kopi luwak” ซึ่งในภาษาอินโด "Kopi" แปลว่า "กาแฟ" ส่วน  "luwak" ก็คือ อีเห็นข้างลายนี่เอง ซึ่งกล่าวกันว่า ที่กาแฟชนิดนี้มีราคาแพง เนื่องจากกระบวนการผลิตที่กว่าจะได้มา และรสชาติเข้มข้น หอมกรุ่นกว่ากาแฟทั่วไป ด้วยสนนราคา แก้วละ 500 บาท ลองหาลิ้มรสกันเอานะครับ ในไทยเริ่มมีนำเข้ากันมาบ้างแล้ว-ประคองแก้วดีๆ ล่ะ เดี๋ยวเผลอหกไป จะพลอยเสียดายเปล่าๆ…ฮา


กาแฟขี้ชะมด (จะให้ถูกต้องจริงๆ คือ ขี้อีเห็น) ยอดเสน่ห์หาราคาแพงลิบของคอกาแฟ

ส่วน “ไขชะมด” (อันนี้ของชะมดจริงๆ ไม่ใช่ไขอีเห็น) ก็เป็นตัวอย่างการนำเอาทรัพยากรทางชีวภาพมาใช้สร้างรายได้ ไขชะมด สนนราคากันที่ กิโลกรัมละ 200,000 บาท ซึ่งไขชะมดนี่ได้ จากตัวชะมดเช็ด (Small Indian civet) เช็ดไขของมันกับแท่งไม้ที่ปักไว้ในกรงเลี้ยง คนเลี้ยงก็เก็บเอาไขนี้มาขาย ไขนี้เป็นส่วนประกอบของเครื่องยาแผนโบราณ เครื่องหอมและน้ำหอมด้วย จริงๆ แล้ว สัตว์ในกลุ่มชะมด อีเห็นนี้จะมีต่อมกลิ่นที่บริเวณใกล้กับรูก้น โดยใช้กลิ่นจากต่อมนี้ ในการประกาศอาณาเขตและการสื่อสารกันระหว่างเพศผู้- เพศเมีย ถึงความพร้อมในการผสมพันธุ์ก็ใช้กลิ่นเป็นสื่อ

ในอีเห็นข้างลาย พี่ๆ นักสัตว์ป่ายืนยันว่า จะได้กลิ่นหอมอ่อนคล้ายกลิ่นของใบเตยที่ใส่ในขนมต่างๆ ลอยโชยมาก่อนหรือขณะที่พบตัวอีเห็นข้างลาย

แม้จะมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ ชีวิตของพวกมันก็ยังถูกคุกคาม ในบรรดาสัตว์ป่า มันคงเป็นสัตว์ที่ถูกยิงมากินเป็นอาหารบ่อยที่สุดอีกชนิดหนึ่ง ด้วยความที่มันชอบเข้ามาหากินใกล้หมู่บ้านหรือชุมชน หรือข้อหา “อีเห็นขี้ขโมย” คือ ข้ออ้างที่สมเหตุสมผล พอที่จะหยิบยื่นความตายให้กับพวกมัน หากมีโอกาสได้ไปเดินตามตลาดสดในต่างจังหวัด เราจะเห็นซากของอีเห็นข้างลายรวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ วางขายเพื่อให้คนซื้อไปประกอบอาหาร แม้ว่าชาวบ้านที่เคยกินอีเห็นข้างลาย จะบอกว่า เนื้อมันมีกลิ่นคาวสาบและมีมันมากเกินไป ต้องปรุงด้วยเครื่องเทศดับกลิ่นมากๆ แต่คงด้วยเชื่อว่า เนื้อสัตว์ป่า หามากินยากกว่าหรือคงมีสรรพคุณอายุวัฒนะอะไร มันจึงยังถูกยิงมากินอยู่เรื่อยไป

ส่วนภัยคุกคามอีกอย่างก็คือ ภัยความตายที่มาจากถนน ในยามค่ำคืน สัตว์กลุ่มชะมด-อีเห็นจะออกหากิน แม้อีเห็นธรรมดาจะหากินบนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ่อยครั้ง ที่มันลงมาหากินพวกสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นด้วย การขับรถยนต์ด้วยความเร็ว ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดออกหากิน เราอาจไม่ทันมองเห็นสัตว์พวกนี้หรือไม่อาจสามารถชะลอความเร็วหยุดรถได้ทัน

ตามถนนในตัวอุทยานแห่งชาติ หรือถนนเส้นที่ตัดผ่านป่าหรือเลียบเคียงกับป่า เรามักพบซากของสัตว์กลุ่มนี้เป็นประจำ ขับช้าลงนิดเถอะครับ นอกจากไม่ทำบาปแล้ว จะได้ความประทับใจในการพบเจอสัตว์ป่าในธรรมชาตินั้นด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยคุกคามที่อยากนำเสนอ คือ ความตายจากยาเบื่อ แม้เป้าหมายของบรรดาพราน จะไม่ต้องการอีเห็น พวกเขาต้องสัตว์ใหญ่มีราคาอย่าง เสือโคร่ง ด้วยทุกส่วนของร่างกายของเสือโคร่งคือ สิ่งที่ตลาดชิ้นส่วนสัตว์ป่าต้องการ เมื่อมีความต้องการ พรานจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ “ของ” ตามใบสั่ง ในช่วงที่สองปีที่ผ่านมา พรานเลือกใช้วิธีวางยาเบื่อ โดยใช้ฟูราดาน--สารเคมีกำจัดแมลงในพืชเกษตร ใส่ในซากของสัตว์ที่คิดว่า เสือโคร่งจะกิน เช่น ซากเก้ง และก็เป็นไปตามที่พรานหวัง มีเสือโคร่งในป่าไทยหลายชีวิตตายไปเพราะยาเบื่อ สัตว์กลุ่มชะมดและอีเห็นก็เป็นสัตว์ที่กินเนื้อและมีบ้างที่มันกินซากด้วย ดังเช่น เพื่อนที่ทำงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งหนึ่ง ส่งภาพอีเห็นเครือนอนตาย เพราะกินฟูราดานในซากสัตว์ที่พรานวางยาไว้

ทำเป็นเล่นไป ไม่แน่อีกไม่เกินช่วงชีวิตเรา สัตว์ที่หาง่าย common อย่างอีเห็นข้างลาย จะกลายเป็นสัตว์ที่ต้องมองรูปภาพแล้วใช้จินตนากานึกเอา ก็เป็นได้


เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

วัชระ สงวนสมบัติ. 2547.  อีเห็นข้างลาย, น. 339-349.  ใน วัชระ สงวนสมบัติ, โดม ประทุมทอง, สมชัย เสริมสินเจริญชัยกุล และอรุณ ร้อยศรี, บรรณาธิการ.  Life on earth.  บริษัท สำนักพิมพ์กรีนแมคพาย จำกัด

พาร์, จอห์น.  2553.  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย (ฉบับปรับปรุง).  สำนักพิมพ์สารคดี กรุงเทพฯ. 

Duckworth, J.W., Widmann P., Custodio, C., Gonzalez, J.C., Jennings, A. & Veron, G. 2008. Paradoxurus hermaphroditusIn: IUCN 2011. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. <www.iucnredlist.org>. Downloaded on 26 August 2011.</www.iucnredlist.org>

Lekagul, B. and J.A. McNeely. 1988. Mammals of Thailand.  2nd ed. Darnsutha Press, Bangkok.

Nowak, R. M.  1991.  Walker’s Mammals of the World.  5th ed.  The Johns Hopkins University Press, Baltimore and London.

Rozhnov, V. V., Rozhnov, Y. V. (November, 2003). "Roles of Different Types of Excretions in Mediated Communication by Scent Marks of the Common Palm Civet, Paradoxurus hermaphroditus Pallas, 1777 (Mammalia, Carnivora)"Biology Bulletin (MAIK Nauka/Interperiodica) 30 (6): 584–590. 

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

แจ่มมากครับบทความนี้ yes

ความเห็นที่ 2

ทั้งน่ารักแล้วก็มีคุณค่าจริงๆครับ

ความเห็นที่ 3

ขอจัดการกับทีสิสให้เสร็จก่อนนะครับ แล้วจะมาช่วยเขียนบทความแน่นอน

ความเห็นที่ 4

tom อีเห็นกับชะมด ตัวที่ผมยังไม่เห็น ความหวังเลือนลางเหลือเกิน อย่างชะมดแปลง อีเห็นลายพาด อีเห็นน้ำ..คงเป็นได้แค่ฝันมั้ง..ภาพอีเห็นในโพรงตื่นตามากเลยอยากเห็นบ้างจัง..บทความได้ความรู้และอ่านเพลินมากๆเลยครับ

ความเห็นที่ 5

พี่กั๊กครับ ชะมดแปลง นี่ยังพอเห็นได้ คือยังมีจำนวนพอควร เท่าที่เคยเห็นจากกล้อง camera trap ของนักวิจัยหลายๆ ท่าน ยังสามารถพบได้แต่คงต้องในพื้นที่ป่า หมายถึง ในพื้นที่ปลอดคนเสียหน่อย อย่างเขตรักษาพันธุ์ หรือในป่าที่ต้องเดินเท้าไปค้างคืน เท่าที่มีประสบการณ์เคยพบ นิสัยก็ไม่ต่างกันครับ ในกลุ่มชะมด อีเห็น หากได้กลิ่นอาหาร เช่น ทอดปลา หรือตอนเราทำอาหาร ส่งกลิ่นเขาก็จะเข้ามาครับ ส่วนอีเห็นลายพาด และอีเห็นน้ำ แม้แต่นักสัตว์ป่าหลายท่านก็อาจต้องบอกว่า มีโอกาสน้อยมากครับ

ความเห็นที่ 6

 ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

ความเห็นที่ 7

เนื้อหาดีมากๆเลยครับ ขอนำทั้งภาพและเนื้อหาไปใช้ในการโพสเพื่อให้ความรู้และการปลูกจิตสำนึกในการรักษาสายพันธ์ุสัตว์ป่านะครับ 

ความเห็นที่ 8

ขอบคุณมาก ๆ สำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่น่าสนใจที่เอามาแชร์นะคะ แฟนนิมทำสารคดีสัตว์ป่าที่อเมริกา สนใจอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับ อีเห็น หรือชะมดค่ะ ตกลงตัวที่กินเมล็ดกาแฟไม่ใช่ชะมดเหรอคะ แล้วทำไมเค้าเรียกกันว่ากาแฟขี้ชะมดคะ ถ้าเข้าไปในป่าจะมีโอกาสเจอชะมดและอีเห็นมากน้อยแค่ไหนคะ และในเมืองไทยสามารถไปตามหาได้ที่ไหนบ้างคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ความเห็นที่ 9

ตัวที่กินเมล็ดกาแฟ เป็นอีเห็นครับ แม้ชะมดกับอีเห็นจะเป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกัน แต่ "ชะมด" เลือกที่จะกินสัตว์เป็นอาหารมากกว่า อาศัยหากินบนพื้นดินเป็นหลัก ส่วนอีเห็นก็กินพวกผลไม้มากกว่า อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก เพราะ ทั้งสองกลุ่ม ออกหากินในเวลาเดียวกัน ขนาดตัวก็ไล่เลี่ยกัน ความต้องการคล้ายยกัน จึงต้องแบ่งกัน หรือจัดสรรกันให้ความต้องการต่างกัน ดังนั้น ตัวที่กินเมล็ดกาแฟ จึงเป็นอีเห็นครับ เหตุที่เรียกว่า กาแฟขี้ชะมด ขึ้นว่ามาจากคน เรียกชะมดกับอีเห็นรวมเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกัน เรียกรวมๆ ว่า ชะมด 
ถ้าเข้าไปในป่า ในพื้นที่ตามอุทยานแห่งชาติไม่ยากเลยครับ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี ไม่ยากเลยครับ โดยเฉพาะตามโรงครัวหรือแหล่งเศษอาหารที่มักพบสัตว์กลุ่มนี้ประจำ บางแห่ง ชะมดหรืออีเห็นบางตัวถึงกับมีชื่อเรียกเหมือนคนเพราะเป็น "ดารา" ประจำ

ความเห็นที่ 10

ตอนนี้อีเห็นที่เลี้ยงอยุ่อายุประมาณ6เดือนแล้วค่ะแต่ดูเหมือนไม่โตสักทีผอมมากด้วยให้กินกล้วยค่ะพอจะมีวิธีไหนให้เค้าโตไวไวแล้วแข็งแรงกว่านี้บ้างไหมค่ะ

ความเห็นที่ 11

ดีจ้า เค้าเคยเลี้ยงอีเห็นข้างลาย ชื่อน้องมาย อยู่ตัวหนึ่งมันน่ารักมากเลยละ เก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ตามันยังไม่แตกแล้ว ตอนนี้น้องมายคงอายุได้ 7 ปีกว่าแล้วล่ะ นานารักมันมากเลย จนถึงปีที่แล้วนี่แหล่ะ น้องมายมันป่วย เลยต้องเอาไปฝากสวนสัตว์แม่ลาวเชียงราย ไปเยี่ยมมันได้แค่ 2 ครั้งเอง พอไปครั้งที่ 3 ทางสวนสัตว์เขาว่าได้ส่งตัวน้องมายไปสวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อเอาไปทำพันธุ์ ตอนนี้คิดถึงน้องมายมากเลย คงไม่ได้ไปเที่ยวหามันแล้วแหล่ะ(บ้านอยู่เชียงราย) คัยรู้ข่าวช่วยบอกหน่อยนะค่ะ
ลักษณะน้องมาย  หน้าตาคล้ายๆรูปที่ 2 ข้างบน แต่จะตุ้ยนุ้ยน่ารักน่าชัง จะเชื่องๆหน่อย ไม่รู้ตอนนี้จะอยู่ที่เชียงใหม่อยู่รึป่าว  คิดถึงจังเลย..........

ความเห็นที่ 12

ถ้าอีเห็นไม่สบายจะทำอย่างไร ใครรู้วิธีรักษา เค้าไม่กินอาหารมา 1 วันแล้ว กินแต่น้ำอย่างเดียว

 

ความเห็นที่ 13

อีเห็นข้างลายเลี้ยงเเล้วไม่โดนจับหรอค่ะ เป็นสัตว์คุ้มครองปล่าว???

ความเห็นที่ 13.1

ไม่โดนจับคะ เพราะอยู่อันดับที่ 3 แค่พาไปขึ้นทะเบียนที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืชก้อพอแล้วล่ะไม่แพงด้วยแค่ไม่กี่บาท บ้างครั้งก้อจะมีพวกชอบเบ่งนะค่ะ ดูไม่เป็นบอกว่าเปนชะมดแล้วขโมยเราไปหน้าตาเฉยค่ะ

ความเห็นที่ 13.2

ไม่โดนจับคะ เพราะอยู่อันดับที่ 3 แค่พาไปขึ้นทะเบียนที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืชก้อพอแล้วล่ะไม่แพงด้วยแค่ไม่กี่บาท บ้างครั้งก้อจะมีพวกชอบเบ่งนะค่ะ ดูไม่เป็นบอกว่าเปนชะมดแล้วขโมยเราไปหน้าตาเฉยค่ะ

ความเห็นที่ 14

ได้ความรู้มากมายเลยครับ