พื้นที่ชุ่มน้ำที่บ้านกองนาง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ผมเป็นอดีตข้าราชการ ไม่ค่อยได้อยู่กับบ้านเกิด แต่พอลาออกจากราชการและมาอยู่ที่บ้านแล้ว เกิดมีความคิดที่อยากคืนสิ่งดีๆให้กับแผ่นดินเกิด ในหลายสิ่งที่ได้ดำเนินมาก็ประสบความสำเร็จดี แต่เมื่อไม่นานมานี้มีหน่วยงานของทางราชการมาทำประชาคมหลังอนุมัติโครงการ และได้รับเงินงบประมาณแล้ว มาแจ้งว่าจะทำการขุดลอกหนองนำที่บ้าน ชื่อว่า " หนองอ้อ " ซึ่งเมื่อก่อนมีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 500 ไร่ เนื่องจากถูกบุกรุกเข้าไปทำกินของชาวบ้าน  เมื่อผมลงไปดูบริเวณหนองอ้อก็พบว่า นอกจากจะถูกบุกรุกแล้วสัตวหลายชนิดได้สูญหายไปทั้งนก เช่น  นกเอี้ยงหลอด ( ภาษาถิ่น ) รูปร่างคล้ายนกเอี้ยงขุนทอง แต่สีเหมือนกับสีของนกกระจอกบ้านเรานี่แหละ นกขาเทียน, ซึ่งเป็นนกน้ำหากินในหนองน้ำก็ไม่เหลือแล้ว และปลาหลายชนิด โดยเฉพาะปลา อีจน ซึ่งลักษณะเหมือนปลาช่อน ต่างก็แค่สีตัวปลาคล้ายสีของปลาบู่ ปลาชะโด เหล่านี้ก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว พันธ์ไม้ที่เกิดในหนองน้ำ คล้ายป่าโกงกางกถูกทำลายไปมากเกือบจะไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว พืชอื่นๆอีกมากมายซึ่งยังไม่สามารถเข้าไปค้นหาได้อันเนื่องมาจากเป็นฤดูฝน หนองอ้อรกน้ำลึกยากในการเข้าไปศึกษา จึงไม่อาจไปค้นหานำมาให้รับทราบได้ ผมมีแผนที่จะขอประชามติให้ชาวบ้านทำพันธะสัญญาที่จะไม่รุกหนองอ้อ ไม่ล่านก และจับปลาในฤดูวางไข่ ในอนาคต ผมจึงอยากขอความรู้ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้สำเร็จตามหลักวิชาการ หวังว่าคงได้รับความรู้จากท่านเป็นวิทยาทานให้ดำเนินงานสาธารณะประโยชน์ต่อไป 

Comments

ความเห็นที่ 1

แค่มีความคิดเช่นนี้เกิดขึ้น ก็นับว่าเป็นบุญของประเทศไทยแล้วครับ

ความเห็นที่ 2

มีสมาชิกท่านนึงอยู่ที่หนองคายด้วยนะครับเป็นข้าราชการอยู่ใช้ล็อกอิน lerdchai เดี๋ยวผมจะลองติดต่อพี่เค้าให้ครับ น่าจะอยู่ใกล้กัน เผื่อช่วยอะไรได้ครับ

ความเห็นที่ 3

เป็นกุศลมากครับ

คิดว่าหลายๆท่านอยากจะเห็นภาพของพื้นที่ก่อนที่จะให้คำแนะนำได้

ถ้าสะดวก รบกวนด้วยนะครับ

นกเอี้ยงหลอดนี่นึกไม่ออกจริงๆ ส่วนนกขาเทียน หน้าตาอย่างนี้มั้ยครับ >>> http://orientalbirdimages.org/search.php?p=11&Bird_ID=1193&Bird_Family_ID=&pagesize=1

ความเห็นที่ 4

ที่พอจะทำได้เร็วๆ คือสนับสนุนภาพของปลาที่อาจจะพบได้ในบริเวณนั้น แต่ถ้าจะให้แน่ใจจริงๆ รบกวน รวบรวมและถ่ายภาพปลาที่พบในพื้นที่ดังกล่าว ก็จะสามารถช่วยจำแนกชนิดให้ได้ครับ อย่างน้อยเป็นข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ ไว้สอนลูกสอนหลานและผู้มาเยือนต่อไป ถ้ามีเหตุโชคดีได้ขึ้นไปหนองคายเมื่อไหร่จะแวะไปเยี่ยมแน่ๆครับ

ความเห็นที่ 5

ระบบนิเวศ พื้นที่ชุ่มน้ำ กับ การขุดลอกที่ขุดจนกลายเป็นบ่อน้ำลึก จะไม่เหมือนกันเลยนะครับ มันจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายทีเดียว

ความเห็นที่ 6

เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เหมือนกันครับ กับหนองน้ำในอำเภอแถวบ้านที่ชื่อ "หนองบัวพระเจ้าหลวง "เมื่อก่อนเป็นหนองที่มีแต่บัวหลายชนิด ซึ่งชื่อมีที่มาจาก สมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระราชินีนาถเคยเสด็จประพาส เลยได้ชื่อว่าหนองบัวพระเจ้าหลวง แต่หลังจากนั้นได้มีการขุดลอกหนองน้ำทำให้ปัจจุบันไม่มีบัวเหลืออีกแล้ว บัวที่พยายามเอามาปลูกเพื่อพลิกฟื้นก็ขึ้นไม่ได้เพราะน้ำลึกเกินไป 

ความเห็นที่ 7

การคุดลอกหนองน้ำ เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณกับระบบนิเวศชุ่มน้ำมาก ๆ แต่ข้อดีก็มีมาก อย่างน้อย หากหนองลึกพอ จะเป็นแหล่งน้ำ และชาวบ้านไม่สามารถลุกล้ำ ไปสร้างสิ่งก่อสร้างได้ ส่วนตัวผมเอง คิดว่า เวลาจะลอกหนองพวกนี้ ไม่ควรลอกทีเดียวทั้งหมด น่าจะแบ่งเป็น 2 - 3 ครั้ง ห่างกันนานซักหน่อย หรือแบ่งไว้ซักส่วน ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมัน

ความเห็นที่ 8

"ผมมีแผนที่จะขอประชามติให้ชาวบ้านทำพันธะสัญญาที่จะไม่รุกหนองอ้อ ไม่ล่านก และจับปลาในฤดูวางไข่ ในอนาคต"
แนวคิดที่จะทำแผนนี้ออกมาเป็นไปตามหลักวิชาการเลยครับ ในการที่จะพัฒนาพื้นที่ต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมครับ แล้วดูตามความเหมาะสมโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านครับ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนน่าจะรู้ว่า พืชชนิดไหน สัตว์ชนิดไหน ต้องการพื้นที่อย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากคนในชุมชนครับ ส่วนการพื้นฟูพื้นที่ต้องแบ่งเป็นพื้นที่ๆไปครับ ตรงไหนควรลึกตรงไหนควรตื้น น่าจะได้ข้อคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่แหละครับ

ความเห็นที่ 9

รบกวนขอ e-mail ของ จขกท. ได้ไหมครับ
อยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายพันธุ์ปลาและชื้อท้องถิ่นของปลาแถวนั้น
ขอบพระคุณครับ
ผมชื่อ พันธุ์ศักดิ์ ครับ
punsaka@scg.co.th