Type Locality ของปลากัดมหาชัยจาก Google Earth

น่าจะเป็นป่าจากผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในบริเวณที่เป็นการกระจายพันธุ์ของมันแล้วครับ ทีมวิจัยเลือกหมายได้เยี่ยมมากครับ ไว้จะลองลงไปดูพื้นที่จริงและจะหาทางอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้ได้ครับ 

Comments

ความเห็นที่ 1


คือจุดประสงค์หลักของทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยตีพิมพ์ "ปลากัดป่ามหาชัย" นั้นทางอาจารย์และผมก็มีความตั้งใจสำคัญ ประการแรกก็เพื่อจะให้ปลากัดป่ามหาชัยนี้ได้ถูกยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆให้เร็วที่สุด (เพราะผลที่ได้โดยเฉพาะจากการศึกษาดีเอ็นเอก็ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว) ซึ่งประการแฝงที่สำคัญยิ่งกว่าก็เพื่อที่เมื่อได้รับการยอมรับเป็นสายพันธุ์ใหม่แล้วจะได้หวังว่าหน่วยงานรัฐและคนในท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในเชิงรุกที่สะดวกขึ้นในการอนุรักษ์ได้เต็มที่ และเผื่อว่าจะมีนโยบายจากรัฐมาช่วยสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง (ทั้งหน่วยงานในสมุทรสาครเอง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประมง หรือหน่วยงานรัฐที่สูงกว่านั้นขึ้นไป)
เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการประกาศไปเพื่อให้คนมาช้อนจับไปขายให้หมดในเชิงเศรษฐกิจ เพราะจริงๆแล้วปลากัดป่ามหาชัยนี้เป็นที่รู้จักดีมาก่อนและมีคนเข้ามาช้อนไปขายอยู่เรื่อยๆตลอดมาอยู่แล้ว (พิกัดก็บอกโดยประมาณ เพราะผมหวังว่าถ้ามีคนไปช้อนตามจะไปช้อนถูกแหล่งข้างเคียงนอกจากจุดที่พบช้อนสำรวจเองเพิ่มเติมไปด้วยในอนาคต แต่ถ้าไม่บอกเลยก็เกรงว่าจะไม่สะดวกเรื่องการอนุรักษ์ต่อไป ประกอบกับเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เชื่อถือ และตรวจสอบได้ของผลงานปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่นี้ของไทยจากนานาชาติด้วย)
บางแหล่งช้อนจากการสอบถามชาวบ้านที่ไปเจอตอนเข้าไปสำรวจก็ว่ามีต่างชาติว่าจ้างให้ชาวบ้านช้อนส่งให้เป็นพันๆตัวก็มีทั้งเล็กใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้ก็เสี่ยงสูญพันธุ์มานานแล้ว แต่ด้วยการถกเถียงกันนานว่าตกลงปลากัดป่ามหาชัยนี้ใช่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่หรือว่าเป็นลูกผสม ด้วยความคลุมเครือตลอดมาจึงไม่สามารถมีใครที่จะมาลงมืออนุรักษ์กันจริงจังได้ถ้าปลากัดป่าชนิดนี้ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เพราะปลากัดลูกผสมในบ้านเรานั้นก็มีมากมายอยู่แล้ว แต่ยิ่งเมื่อผลงานวิจัยพิสูจน์ได้ว่าปลากัดป่ามหาชัยเป็นปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่อย่างแน่นอนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดครั้งสำคัญที่จะอนุรักษ์ปลากัดป่ามหาชัยนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยที่พบได้ประเทศเดียวและยังกระจายพันธุ์อย่างจำกัดกินบริเวณค่อนข้างน้อยมาก
 
ส่วนในเชิงเศรษฐกิจนั้นก็กระตุ้นให้มีการช้อนมาเล็กน้อยแต่อยากให้เน้นการเพาะพันธุ์ในฟาร์มโดยเพาะเพื่อรักษาสายบริสุทธิ์และนำตรงนี้ส่งออก ดีกว่าที่จะช้อนจากธรรมชาติมาขายกันเพราะถ้าคนช้อนกันมากก็ยิ่งจะหมดไว และก็ไม่ควรให้ชาวต่างชาติซื้อปลาต้นสายเราไปส่งออกขายเองในขณะที่ไทยเองที่เป็นถิ่นอาศัยของปลากัดป่าชนิดนี้ไม่ได้มีส่วนเลยก็ไม่น่าจะควรเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดีส่วนตัวจากการสำรวจผมว่าปัจจัยหลักกว่าที่ทำให้ปลากัดป่ามหาชัยเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดก็คือการที่แหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดป่ามหาชัยโดยเฉพาะป่าจากถูกตัดทำลายและถมที่ไปโดย"มนุษย์"เองนี่แหละน่ากลัวจะทำให้แหล่งที่อยู่หายไปหายไปและหายไปเลยจริงๆ เพราะยิ่งถ้าหากการบอกเล่าของคนในสมัยก่อนเป็นจริงที่ปลากัดป่ามหาชัยนี้เดิมพบกระจายพันธุ์กินบริเวณทั้งสามสมุทรคือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม อีกทั้งทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯด้วยแล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่หลักๆที่สำรวจพบได้ก็มีเพียงเฉพาะสมุทรสาครและกรุงเทพฯบางพื้นที่เท่านั้น แถมบางแหล่งที่ไปช้อนมาวิจัยในเวลาต่อมาไม่นานก้ถูกทำลายหายไปในพริบตาอีก ผมว่าประเด็นนี้น่าห่วงเป็นอย่างมาก

ถ้าผมเสนอแนวทางอนุรักษ์ในความคิดเห็นส่วนตัว ใจผมก็อยากให้หน่วยงานของรัฐลงทุนซื้อที่ดินป่าจากทำเขตอนุรักษ์และตั้งคนในพื้นที่ของสมุทรสาครเองและบุคคลตามสมควรมาช่วยกันดูแลเขตอนุรักษ์นี้โดยเฉพาะแถบTypeLocalityหลักนี้ซัก1โซนก็ยังดี และก็น่าจะมีพื้นที่อนุรักษ์สำรองเพิ่มเติมในโซนอื่นๆที่ได้สำรวจพบด้วย 
นอกจากนี้ก็น่าจะมีฟาร์มที่เพาะปลากัดป่ามหาชัยพันธุ์แท้เท่านั้นจากหลายๆแหล่งมาสะสมสายพันธุ์เอาไว้ประกอบกันด้วย

(ตัวผมก็ยังใหม่และไม่ค่อยสันทัดกับงานในเชิงอนุรักษ์ยังไงต้องขอคำชี้แนะต่อไปในอนาคตด้วยนะครับผม และยินดีจะเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และเปี่ยมด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งหลายต่อไปด้วยครับ)

ซึ่งก็หวังว่างานวิจัยปลากัดป่ามหาชัยซึ่งเป็นงานวิจัยเล็กๆเริ่มต้นนี้จะเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าในเชิงต่อยอดโดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์อย่างมหาศาลต่อไปในอนาคตนะครับ

ขอขอบคุณพี่นณณ์ด้วยนะครับที่จะช่วยเป็นแกนนำประสานงานหน่วยงานต่างๆเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป

แถบๆTypeLocalityหลักตอนนี้ก็ยังคงทยอยหายแว๊บๆไปเรื่อยๆในบางส่วนอยู่ไปพร้อมๆกับพื้นที่อื่นๆเช่นกัน แม้จะพยายามเลือกพื้นที่ที่ถูกบุกรุกให้น้อยที่สุดเมื่อเทียบเคียงจากแหล่งสำรวจอื่นๆแล้ว  ก็หวังว่าการอนุรักษ์ปลากัดป่ามหาชัยครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังได้เต็มศักยภาพเสียที ดีใจๆ 
 

ความเห็นที่ 2

อีกหนทางที่น่าทำก็คือ หา พท. ที่มีลักษณะเดียวกันแล้วเอาลูกพันธุ์แท้ๆไปปล่อย พร้อมอนุรักษ์ไว้ เป็น sattelite habitats, กึ่งๆ ex situ คิดว่าน่าจะเสถียรและต้นทุนต่ำกว่า การเพาะในฟาร์มยังมีเรื่องต้นทุน กำไรและเศรษฐกิจ มาเป็นปัจจัยเสี่ยง ตัวอย่างในปลาหมูอารีย์ เห็นชัดว่าเมื่อตลาดเซาหรือขาดทุน ก้เป็นอันจบ captive breed ของหน่วยงานเช่นกัน ต้องขึ้นกับงบฯ มาก เมื่อนโยบายไม่เอื้อ ก็ต้องทิ้งไปเช่นกัน ที่ดินที่เห็นมีสถานะอย่างไร? เป็นที่สาธารณหรือมีเจ้าของแล้ว ทางน้ำรอบๆ (hydrographic) มีความเสี่ยงหรือไม่กับน้ำเน่า? ต้องทำ inventory ให้ชัดแจ้ง จึงเดินหน้าอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน

ความเห็นที่ 3

ถ้าเป็น public land ก้คงง่ายขึ้นและอาจนำเสนอเป็นRamsar site ได้ จริงๆ ทั้งอ่าวไทยตอนในก็จะเสนอเป็นอยู่แล้ว และเจ้าปลานี่ก็ถูกใส่ใน list เป็น Nothworthy species ใน Ramsar Information sheet ที่เตรียมอยู่ แต่ตอนนั้นยังเป็น Betta sp. (Mahachai)
เรื่องซื้อที่ กล้าฟันธงได้ว่า ไม่มีทาง รัฐไม่มีเงินขนาดนั้นหรอก อีกอย่างก็คือ political will

ความเห็นที่ 4

ในเมื่อภาครัฐไม่สามารถที่จะช่วยเหลือหรืออุดหนุนได้นั่นแหละคือปัญหา ในพื้นที่มหาชัยเองก็นับวันจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง พื้นที่ที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆปัญหามลพิษที่หนีไม่พ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อะไรคือคำตอบของมหาชัยเอนสิส ส่วนหนึ่งของผมคิดว่าพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมใกล้เคีองมหาชัยน่าจะอยู่แถวสมุทรปราการ ,ฉะเชิงเทรา , ชลบุรี  แต่ก็นั่นแหละคงไม่พ้นเรื่องปัญหาของพื้นที่ที่มีราคาแพงอีก โดยในส่วนตัวแล้วคิดว่าผู้ที่รักปลากัด ในโซนแปดริ้วที่มีทั้งสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ สภาพของน้ำ(จืดปนกร่อย) มีป่าจากขึ้นปนกับพืชน้ำจืด น่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์ แต่ก็นั่นอีกแหละครับ แปดริ้วเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัดขาย กรณีลูกผสมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฮ้อแค่คิดก็เหนื่อยแล้วอ่ะ การที่นำมาเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ในฟาร์มผมเห็นด้วยครับ แต่จะมีใครที่ทำแบบนั้นโดยไม่มีผลตอบแทน (ผมคิดว่ามีครับ แต่คงต้องรอหน่อย) ยังไงผมก็เป็นหนึ่งในกำลังใจของผู้ที่ทำงานในการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในเมืองไทยครับ การแสดงความคิดเห็นเป็นอะไรที่ออกมาจากใจจริงๆ 

ความเห็นที่ 5

ประเด็นคือต้องอนุรักษ์ถิ่นอาศัยให้ปลาอยู่

ไม่อยากคิดถึงอนาคตที่ต้องพูดว่า....สูญพันธุ์จากธรรมชาติ มีเฉพาะในที่เลี้ยงเท่านั้น

ผมหล่ะไม่อยากจะคิดถึงงบประมาณซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการทั้งปวงเลย เอาเศษๆ งบมารวมกันก็หาซื้อพื้นที่อนุรักษ์ได้แล้ว

ความเห็นที่ 6

ไปดูสถานที่จริงมาแล้วครับ เหลือน้อยกว่าในภาพแล้วหล่ะ ... 

ความเห็นที่ 7

ถ้าเราเอามาเพาะเลี้ยงเพื่อนุรักษ์เป็นเวลานานหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปีต่อจากนี้ไป
แน่นอนว่าเราไม่สามารถจำลองสถานที่เลี้ยงให้เหมือนถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมที่มหาชัยได้
จะส่งผลให้สายพันธุ์มหาชัยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมั้ยครับ ถ้าเปลี่ยนแล้วมันเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน จะเราจะยังเรียกว่าปลามหาชัยได้อีกมั้ย

ถามแบบไม่รู้จริงๆครับ

ความเห็นที่ 7.1

มุมมองส่วนตัวของผมนะ > ถ้ามองตามหลักวิวัฒนาการ ลูกเพาะที่ออกมาก็จะมีความแปรผันต่างๆ คือมีทั้งที่เหมือนต้นสาย และไม่เหมือนต้นสาย(แม้จะมาจากพ่อแม่พันธุ์เลือด100%ก็เหอะ)  ถ้าจะอนุรักษ์จริงๆก็ต้องเอาเฉพาะพวกที่มีลักษณะดั้งเดิมไว้เท่านั้น ส่วนพวกที่แปรผันต้องคัดออกเสมอ(จะคัดทิ้งหรือเอาไปทำสายประกวดแฟนซีก็ตามสะดวก)แต่ต้องไม่ปนกันกับสายอนุรักษ์ครับ

ความเห็นที่ 7.1.1

ปลาในธรรมชาติ มันคัดเลือกคู่ที่จะผสมพันธุ์โดยพิจารณาจากปัจจัยหลักเพื่อให้ลูกของมันแข็งแรง และรอดอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นปลาตัวผู้จะต้องสู้กัน ผู้ชนะจึงจะได้สิทธิ์ การเป็นพ่อพันธุ์ หรือพ่อพันธู์ที่แข็งแกร่งจะไล่กัดตัวเมีย แม่พันธุ์ตัวไหนสู้รบต่อกรได้ถูกใจ ก็จะเลือกผสมพันธุ์ด้วย ลูกที่เกิดมา ก็มีศัตรูสารพัดที่จ้องจะกินลูกปลา ลูกปลาที่แข็งแกร่งจริง ๆจึงจะเหลือรอดจนเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นใหม่ได้

กลับกัน การผสมพันธุ์โดยน้ำมือของมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นอย่างนั้น มนุษย์เลือกที่จะผสมให้ได้ลูกปลาตามที่ใจตัวเองปรารถนา เช่น อยากได้พวกที่ร้างกายกำยำ ต่อสู้เก่ง หรืออยากได้พวกที่ร่้างกายอ้อนแอ้น ครีบพริ้วบาง สีสันสดใส ซึ่งพวกหลังนี้ในธรรมชาติจะถูกกำจัดออกไปด้วยกลไกการคัดเลือกตามธรรมชาติ หรืออาจเหลือเป็นยรแฝงในประชากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  ลูกปลาที่ได้จากการเพาะพันธู์ ก็ได้รับการประคบประหงมเลี้ยงดู มีอาหารให้กิน ศัตรูผู้ล่า หากเฉียดเข้ามาใกล้ก็ถูกเจะถูกกำจัดออกไป โรคภัยถ้ามีมาก็ถูกยับยั้งด้วยสารเคมี ดังัน้นปลาที่มียีนด้อยแฝงก็ยังมีชีวิตรอดและสามารถสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

กลับมาประเด็นที่ว่า ให้คัดเลือกเอาแต่ตัวที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ร้อยเปอร์เซนต์เอาไว้ เพื่อการอนุรักษ์ แล้วกำจัดจุดอ่อนออกไป ผมว่า มันค่อนข้างจะยุ่งยากในกระบวนการกำจัด ยิ่งไปเจอคนเลี้ยงที่มีคุณธรรมสูงส่ง การเลี้ยงแล้วมาฆ่าสิ่งที่เลี้ยง มันก็แสนจะลำบากใจยิ่งนัก สิ่งหนึ่งที่น่าทำได้ในการอนุรักษ์นอกแหล่งที่อยู่อาศัย (อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) คือการเลี้ยงโดยการจำลองสภาพดั้งเดิมให้มากที่สุดแล้วปล่อยให้ปลาอยู่ในนั้นและมีชีวิตรอด ผู้ชนะคือผู้ที่ได้ไปต่อ

จริงๆ แล้วการอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่ คือการพยายามรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยให้มีอยู่บ้างเพื่อให้ประชากรในธรรมชาติได้มีโอกาสสืบเผ่าพันธุ์ และได้ค่อยๆ ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป น่าจะป็นวิธีการที่ีดที่สุดในการอนุรักษ์ปลาชนิดนี้้ หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะว่าถ้าเราเอามันมาเลี้ยงในที่กักขัง มันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับภาวะการถูกเลี้ยงอยู่ดี

ความเห็นที่ 8

มองต่างจากคุณกินงูนิดนึง

ในธรรมชาติมันก็มีความผันแปรอยู่แล้ว เพียงแต่เราปล่อยไว้ชุดนึงที่ไม่มีการจับคู่ให้มัน ให้มันสุ่มเลือกคู่เอง (เลี้ยงรวม) มันจะมีโอกาสรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าเลือกตัวที่เหมือนดั้งเดิมมารักษาสายไว้ เพราะมันจะสูญเสียพันธุกรรมที่ผันแปรออกไปซะเปล่าๆ  เหมือนกับปลากัด splemdens ที่มันมีคนอ้างว่าเป็นเซียนบอกว่าทุ่งภาคกลางแท้ ครีบหลังต้องไม่ติดแดง ก็พลอยให้นึกย้อนไปว่า แล้วพันธุกรรมที่ครีบหลังติดแดงของปลาหม้อมันจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากสิ่งที่แฝงมากับบรรพบุรุษของมันเอง ยิ่งวัตถุประสงค์การพัฒนาสายพันธุ์เดิมนั้นเน้นเพื่อการกัดมากกว่าจะสนใจสีที่เกิดซะด้วย แต่หากวันไหนเราพยายามเอาลักษณะที่เราชอบมาจับคู่เพื่อให้เกิดลักษณะที่เราต้องการแล้ว ถือว่าเป็นการตัดพันธุ์ทั้งหมด ไม่เว้นแม้การเลือกเพื่อให้ปลามีลักษณะเหมือนปลาป่าแท้ตามที่เราคิดก็ตาม

ความเห็นที่ 9

เห็นด้วกับคุณ สมหมายเเละคุณ knotsnake ในเรื่องของสมดุลทางธรรมชาติครับ